วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

อธิบดีคุกเด็กเห็นด้วยเคอร์ฟิวโจ๋ 18

อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็ก เห็นด้วยกับนโยบายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ออกจากบ้านหลัง 4 ทุ่ม เชื่อจะตัดปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาได้อีกมากมาย ย้ำ ถ้าตำรวจทำจริง จะดีมาก

วันนี้ (14 ม.ค.) นายธวัชชัย ไทยเขียว อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม กล่าวถึง กรณีทางกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) จะห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ออกจากเคหสถานหลังเวลา 22.00 น.ว่า เห็นด้วยอย่างมาก เพราะเคยเสนอนโยบายดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่มมีการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและเยาวชน ช่วงปี พ.ศ.2543 ก่อนกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ในปี พ.ศ.2546

นายธวัชชัย กล่าวว่า หลักการของการห้ามเด็กออกจากบ้านหลังสี่ทุ่ม เพื่อปกป้องและคุ้มครองเด็ก ไม่ใช่การจับเด็กเข้าคุก เพราะจากผลการวิจัยของกรมพินิจฯ ที่ได้สืบเสาะประวัติเด็กที่กระทำผิดปีละกว่า 5 หมื่นคน พบว่า ส่วนใหญ่จะมีพฤติการณ์ก่อนการกระทำผิด โดยเริ่มจากการคบเพื่อน ติดบุหรี่ สุรา หนีเที่ยวกลางคืน กระทั่งทำผิดจนถูกจับกุม อีกทั้งเด็กวัยนี้ ในเวลาสี่ทุ่ม ควรจะพักผ่อนไม่ใช่ออกมาเที่ยวเตร่ หรือออกมาทำงาน เพราะกฎหมายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทำงาน ส่วนเด็กอายุระหว่าง 15-18 ปี ทำงานได้บางประเภท และลักษณะงานที่ทำ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ตรวจกระทรวงแรงงาน ส่วนเด็กที่ต้องขายพวงมาลัย หรือต้องออกมาทำงานรับจ้างหาเลี้ยงตัวเอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาดูแลให้ใกล้ชิด

อธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวอีกว่า กระบวนการห้ามเด็กออกจากบ้านหลังสี่ทุ่ม หากตำรวจไปเจอเด็กที่หนีเที่ยว หรือออกมาเตร็ดเตร่ โดยไม่มีเหตุผล จะนำตัวไปที่สถานีตำรวจ เพื่อเรียกให้พ่อแม่มารับตัว พร้อมสืบเสาะประวัติครอบครัว ก่อนปล่อยให้กลับบ้าน ไม่มีการประกันตัว ไม่ทำประวัติ

ทั้งนี้ หากพบว่า เด็กไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ตำรวจอาจส่งเข้าโปรแกรมฟื้นฟูของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หรือกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนเด็กที่ปล่อยให้กลับไปอยู่กับครอบครัว อาจมีโปรแกรมดูแลเด็กร่วมกับครอบครัวและโรงเรียน ส่วนกลุ่มเด็กที่ไม่เรียนหนังสือ ตำรวจอาจส่งต่อสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน

“ถ้าปล่อยกลุ่มเด็กเหล่านี้ไว้ตามยถากรรม อะไรจะเกิดขึ้น ก็หนีไม่พ้นวังวนของการทำผิดกฎหมายในที่สุด ส่วนกลุ่มเด็กที่กลับจากเรียนพิเศษ หรือเรียนภาคค่ำ หรือออกมาทำธุระให้พ่อแม่ ก็ให้แสดงหลักฐานยืนยันได้ เรื่องนี้ถ้าตำรวจจะทำ เป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะไม่มีใครอยากทำ เนื่องจากจะวุ่นวายกับเจ้าหน้าที่มาก เมื่อมีคนมาช่วยดูแลอบรมบุตรหลาน พ่อแม่ควรดีใจ เป็นการใช้กฎหมายบังคับเพื่อคุ้มครองส่งเสริมสวัสดิภาพเด็ก” นายธวัชชัย กล่าว



ที่มา : http://www.manager.co.th/
up date 14/01/2554