วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คลิปความรุนแรงผลกระทบต่อสังคมเด็กและเยาวชน


















เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เกิดจากจิตของบรรดาพ่อๆ แม่ๆ ที่ตระหนักถึงผลกระทบสื่อต่อเยาวชนและครอบครัว ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง "สังคมได้อะไร? จากการนำเสนอคลิปข่าวรุนแรง" เนื่องจากเห็นว่าการนำเสนอความรุนแรงผ่านสื่อที่มีจำนวนความถี่มากของสื่อมวลชน ทำให้เกิดความชินชา กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม เพราะขณะนี้สังคมเข้าสู่ยุคการหลอมเหลวรวมสื่อ (Crimes Convergence) สื่อทุกประเภทถูกรวมเข้าด้วยกันโดยมีตัวการเป็นสื่ออินเทอร์เน็ตเมื่อทุกอย่างถูกหลอมรวมก็จะกลายเป็นอาชญากรรมออนไลน์ทำให้เด็กไทยที่ไม่มีวุฒิภาวะในการใช้สื่อแต่มีความสามารถในการแบ่งปันข้อมูล โดยเฉพาะการถ่ายคลิปวิดีโอซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก สร้างผลผลิตที่ไม่เหมาะสมออกสู่สังคม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกระบวนการในการสื่อสารที่ผู้รับสารเป็นผู้ผลิตเนื้อหาข้อมูลข่าวสารและเป็นผู้แพร่สารเอง อีกทั้งการนำเสนอข่าวสารของสื่อที่ไม่ได้ลดระดับความรุนแรงลง กลับทำให้เกิดความขยายความรุนแรงมากขึ้น

นพ.กมล แสงทองศรีกมล กุมารเวชเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า มีรายงานการวิจัยพบว่า การเห็นฉากที่เต็มไปด้วยความรุนแรงซ้ำๆ กัน จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มคนมีความหวั่นไหวทางอารมณ์ หรือกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมซึมเศร้า ซึ่งกลุ่มเด็กเล็กจะตอบสนองต่อความรุนแรงในทันที โดยจะไม่คำนึงถึงความเจ็บปวดของผู้อื่น เพราะเด็กไม่มีวุฒิภาวะที่จะไตร่ตรอง ส่วนกลุ่มคนที่เป็นโรคซึมเศร้า พร้อมที่จะกระทำความรุนแรงซ้ำกับสิ่งที่เห็นทันที เช่น การฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องความรุนแรงในเพศหญิง ที่มีแนวโน้มการเกิดความรุนแรงมากขึ้น

ซึ่งในความเป็นจริง ถูกแล้วที่สื่อมีหน้าที่ต้องนำเสนอแต่ก็จริงอีกที่ทุกครั้งที่มีการนำเสนอความรุนแรงซ้ำๆ ก็จะเกิดการกระตุ้นทำให้เกิดอารมณ์ร่วม แต่การจะไม่นำเสนอเลยก็ย่อมไม่สามารถนำได้ ดังนั้นจึงต้องเกิดกระบวนการควบคุมการนำเสนออย่างพอดี จำต้องเปลี่ยนแปลงการสอนจริยธรรมในระบบการศึกษาใหม่ ให้รู้จักจิตสาธารณะของสังคมและความรู้สึกมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม


ปัจจุบัน ทัศนะของสังคมไทยที่มีต่อข่าวความรุนแรงที่เกิดจากการเลียนแบบของเยาวชนผ่านสื่อนั้น เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและรู้สึกหดหู่ สะเทือนใจ โดยสาเหตุที่ทุกๆคนจะพูดถึงเสมอๆ คือ การที่ไม่ได้หรือขาดโอกาสในการได้รับการชี้แนะหรือการสั่งสอนอย่างถูกต้องจากผู้ใหญ่หรือคนในครอบครัว ซึ่งได้มีผลสำรวจจากสวนดุสิตโพลระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน ว่าวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ร้อยละ 38.40 เห็นว่าต้องเริ่มจากครอบครัวที่มีการดูแลเอาใจใส่ และการอบรมสั่งสอนที่ดี ดังนั้น สถาบันที่เล็กที่สุดแต่สำคัญที่สุดอย่างสถาบันครอบครัว จึงเป็นโจทย์หนึ่งในการแก้ปัญหาในรูปแบบของการให้ภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อป้องกันความรุนแรงผ่านสื่อที่เกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา

การแก้ปัญหาใดๆ ของสังคมสักหนึ่งปัญหา ก็ต้องมีผู้ช่วยแก้เป็นคนในสังคมนั้นๆ เนื่องจากสังคมเป็นสภาพของการอยู่ร่วมกันที่ซับซ้อนบนความสัมพันธ์ที่หลาหลาย การจะคลายปมก็ต้องได้รับความร่วมมือที่หลากหลาย ซึ่งในกรณีปัญหาคลิปความรุนแรงนี้ ทางสื่อมวลชนก็ต้องลดความถี่ของการนำเสนอลงและควบคุมการนำเสนออย่างเหมาะสมและพอดีควรสร้างจรรยาบรรณทางวิชาชีพด้านข่าวให้เข้มแข็ง ทางด้านหน่วยงานภาครัฐ ควรเร่งให้ความรู้และทำความเข้าใจกับผู้ใช้สื่อให้รู้เท่าทัน และทำงานอย่างจริงจัง ทางด้านผู้บริโภคก็ต้องไม่เลือกหรือไม่สนับสนุนที่จะบริโภคสื่อที่ไม่มีการควบคุมการนำเสนออย่างพอดีและเหมาะสม ซึ่งเป็นพลังทางสังคมที่แข็งแกร่งรวมถึงผลักดันให้เกิดกลไกในการมีส่วนร่วมของประชาชนในกานำเสนอสื่อ ที่สำคัญครอบครัวต้องเห็นความสำคัญและตระหนักมากๆ ถึงผลกระทบของความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจึงต้องเกิดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นภายในครอบครัวของตนมีเวลาเพื่อการแลกเปลี่ยนพูดคุยเมื่อรับชมข่าวสาร มีทัศนะในการดูแลเอาใจใส่พฤติกรรมการบริโภคสื่อของสมาชิกในบ้าน


ทั้งนี้ สังคมจะดีได้ ก็ต้องดีด้วยคนในสังคมเอง...


ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/node/11535
Update: 13-10-52


















ความรุนแรงยุติได้ด้วย "พลังสังคม"

 ความคิดแบบนี้หรือเปล่า? ที่ทำให้ผู้หญิงในบ้านเมืองของเรา ยังคงถูกคุกคามจาก “การกระทำความรุนแรง โดยเฉพาะจากคนใกล้ชิด อีกทั้งปัญหาเหล่านี้ยังคงถูกเพิกเฉยจากผู้คนรอบข้างและผู้พบเห็น เพราะความเข้าใจที่ว่า นั่นคือปัญหาภายในครอบครัว อย่าเข้าไปยุ่งจะดีเสียกว่า!!! แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า...ความคิดเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้หญิงทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณอันเป็นการลิดรอนสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้หญิง ตลอดจนส่งผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวมตามมาอีกด้วย...

หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิง นั้นหมายถึงการกระทำความรุนแรงทางเพศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น “แต่ไม่ใช่เลย” เพราะความจริงแล้วความรุนแรงต่อผู้หญิงหมายถึง “การกระทำใดๆ ที่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากอคติทางเพศ ซึ่งเป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันเสรีภาพทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว”

อีกหนึ่งความรุนแรง คือ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทั้งจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่รับผิดชอบของฝ่ายชายหรือจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการไม่สามารถต่อรองเรื่องการคุมกำเนิดกับคู่ครองได้ รวมถึงการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ติดเชื้อเอดส์จากสามี หรือจากการถูกละเมิดทางเพศ การนำเสนอผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ เป็นการมองว่าผู้หญิงเป็นวัตถุที่สามารถดึงดูดได้ในสื่อลามกต่างๆ การโฆษณาสินค้า รวมทั้งการแอบถ่ายคลิปฉาวต่างๆ และการล่อลวงมาบังคับค้าประเวณี หรือใช้แรงงานเยี่ยงทาส ทั้งหมดนี้ถือเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเราแทบทั้งสิ้น...

จากข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นสิ่งหนึ่งบ่งบอกได้ชัดเจนว่าความรุนแรงยังคงมีอยู่มากในสังคมไทย จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของมูลนิธิเพื่อนหญิงในปี 51 ที่ผ่านมา พบว่า ยังมีการละเมิดทางเพศกว่าสูงถึง 227 ข่าว โดยแบ่งได้เป็น การข่มขืน 133 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 50 ข่มขืนและฆ่า 17 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8 พยายามข่มขืน 30 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 13 พยายามข่มขืนและฆ่า 9 ข่าว  คิดเป็นร้อยละ 4 รุมโทรม 27 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 12 รุมโทรมและฆ่า 2 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 1 อนาจาร 19 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8 และพรากผู้เยาว์ 10 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 4

 และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น...เมื่อผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็น เยาวชน แทบทั้งสิ้น โดยเป็นเด็กหญิงและผู้หญิงสูงถึง 222 ราย หรือร้อยละ 79 มีอายุประมาณ 11-15 ปี 105 ราย หรือร้อยละ 38 อายุระหว่าง 16-20 ปี 48 ราย หรือร้อยละ 17 และอายุระหว่าง 4-10 ปี 44 ราย หรือร้อยละ 16 และยังพบว่า...มีผู้ถูกกระทำที่อายุน้อยที่สุดคือ อายุ 3 ขวบ โดยผู้กระทำเป็นคนในเครือญาติ ส่วนผู้ถูกกระทำที่อายุมากสุดคือ 55 ปี...     
 
ส่วนในผู้กระทำความรุนแรงมีทั้งหมด 355 ราย ช่วงอายุที่กระทำมากที่สุดคือ อายุระหว่าง 16-20 ปี มีทั้งหมด 100 ราย หรือร้อยละ 28 อายุระหว่าง 31-40 ปี 36 ราย หรือร้อยละ 10 อายุระหว่าง 21-25 ปี 33 ราย หรือร้อยละ 9 และพบผู้กระทำความรุนแรงที่อายุน้อยที่สุดคือ 11 ขวบ จำนวน 2 คน โดยกระทำร่วมกับรุ่นพี่อายุ 13 ปี รุมโทรมเด็กผู้หญิงอายุ 7 ปี โดยมีพฤติกรรมเลียนแบบมาจากเว็บโป๊ที่เคยดูจากร้านอินเตอร์เน็ต ส่วนผู้กระทำที่อายุมากสุดคือ 72 ปี

แล้วคุณเลยรู้หรือไม่ว่า...ผู้ที่ถูกกระทำนั้น ประกอบอาชีพอะไร จากข้อมูลของมูลนิธิฯ ยังบ่งบอกว่า อาชีพที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดคือ นักเรียน มีมากถึง 142 ราย หรือร้อยละ 51 รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้าง 14 หรือร้อย 5 ราย และพนักงานร้านอาหาร/คาราโอเกะ 14 ราย ร้อยละ 5

และที่ไม่น่าเชื่อก็คือ การกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มาจากคนรู้จัก เช่น เพื่อน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมหอพัก เพื่อนนักเรียน ครู/อาจารย์ กับลูกศิษย์ หรือใกล้ชิด มากถึง 109 ข่าว หรือร้อยละ 48 ที่แย่ไปกว่านั้น!!! ยังพบว่าเป็นบุคคลในครอบครัวที่เป็นผู้กระทำถึง 20 ราย หรือร้อยละ 9 เป็นพ่อ-ลูก มากที่สุด 6 ราย รองลงมาคือ พ่อเลี้ยง-ลูกเลี้ยง 5 ราย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น...

นอกจากนี้ยังมีผู้กระทำที่ไม่เคยรู้จักกันอีก 64 รายหรือร้อยละ 28 เช่น ผู้กระทำเข้าไปลักทรัพย์แล้วข่มขืนเจ้าทรัพย์ เป็นคนที่เคยพบกันครั้งแรกแล้วถูกล่อลวง หรือถูกฉุดไปข่มขืนอีกด้วยแต่เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงต่อผู้หญิงยังคงมีอยู่ในประเทศของเรานั้น!! เป็นเพราะเหยื่อที่ถูกกระทำส่วนใหญ่ ไม่ได้ดำเนินการเอาเรื่องกับผู้กระทำผิด ซึ่งเหตุผลอาจมีมากมายไม่ว่าจะหวาดกลัวการถูกทำร้ายซ้ำ เกรงสังคมจะตราหน้าให้อับอาย กลัวพ่อแม่ดุด่า ซึ่งนั่นยิ่งเป็นช่องทางส่อให้เกิดความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก...

แล้วที่ไหนล่ะ!! ที่เรามักพบเห็นความรุนแรง

จากการจัดอันดับพบว่า สถานที่ที่เกิดความรุนรงมากสุด 3 อันดับแรก คือ  บ้านหรือห้องของผู้กระทำ 52 ราย หรือร้อยละ 23 รองลงมา บ้านหรือห้องพักผู้ถูกกระทำ 45 ราย หรือร้อยละ 20 และโรงแรม/รีสอร์ท 21 ราย ร้อยละ 9 โดยเหตุที่เกิดในบ้านเป็นจำนวนมาก เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ เนื่องจากเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกัน ทำให้เกิดความไว้ใจเข้านอกออกในบ้านได้ ดั้งนั้นเหตุการณ์จึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในพื้นที่สองแห่งนี้ ส่วนที่เกิดเหตุที่เป็นโรงแรมและรีสอร์ทนั้น ผู้ถูกกระทำมักจะถูกฉุดหรือล่อลวงไปในที่แห่งนั้น

ในส่วนของต้นต่อปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นนี้ คงจะหนีไม่พ้นมัจจุราชร้ายอย่าง แอลกอฮอล์ ที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้กระทำการใดๆ โดยขาดการยั้งคิด ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาความรุนแรงโดยสาเหตุจาก แอลกอฮอล์ทั้งหมด 41 ราย ซึ่งผู้กระทำดื่มก่อนลงมือก่อเหตุ 34 รายหรือร้อยละ 83 ของปัจจัยกระตุ้นทั้งหมด เสพยาเสพติด เช่น เสพยาบ้า ดมกาว 4 ราย หรือร้อย 10 ดูสื่อลามก 3 รายหรือร้อยละ 7 นอกจากนี้ผู้กระทำบางรายยังรับสารภาพว่าเมื่อเมาแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศ จนควบคุมอารมณ์ไม่ได้ บางรายนอกจากดื่มเหล้าแล้วยังดูสื่อลามกร่วมด้วย

จากข้อมูลศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ระบุว่าจากการบริการให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาวิกฤตความรุนแรง เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ถูกละเมิดทางเพศ ในปี 2551 ที่ผ่านมา พบผู้หญิงประสบปัญหาความรุนแรงเพียง 73 ราย หรือร้อยละ 10 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นจำนวนตัวเลขที่น้อยหากเปรียบเทียบกับข่าวในหนังสือพิมพ์ที่พบเจอ โดยส่วนใหญ่ก็จะเข้ามาขอรับคำปรึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ ถึง 179 กรณี เนื่องจากมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ซึ่งแบ่งได้เป็น 1. ทำหวาดกลัว สับสวนและเครียดถึง 61 กรณี 2. ทำให้อึดอัด อับอาย ไม่กล้าบอกใคร 36 ราย 3. คดีไม่คืบหน้า ไม่ได้รับความเป็นธรรม 27 กรณี 4. ทำให้เกิดวิตกกังวลในการการสอบปากคำ การสืบพยาน 12 กรณี 5. ถูกข่มขู่ คุกคาม 11 กรณี 6. ต้องการที่พัก 10 กรณี 7. สามี/อดีตสามีทำร้ายร่างกาย คุกคาม ไม่รับผิดชอบ 9 กรณี 8. ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจากการถูกข่มขืน 7 กรณี 9. ต้องการอาชีพ 3 กรณี 10. พ่อแม่ขัดแย้งกับลูก (กรณีอยากให้เลิกกับแฟน) 2 กรณี และ 11. ถ่ายคลิปวิดีโอ 1 กรณี

“ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง” คงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป ถึงเวลาที่สังคมต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน คงไม่ใช่เพียงแค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่นั่นหมายถึงทุกคนในสังคมร่วมมือกันช่วยเหลือเพื่อนผู้ที่ประสบเหตุไปพร้อมๆ กันโดยไม่ทอดทิ้งกัน หากพบเห็นความรุนแรงในครอบครัว หรือในสังคม อย่าเงียบเฉย รีบแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรเอกชน เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรง นอกจากนี้ยังต้องช่วยกันอบรมสั่งสอนลูกหลานให้รู้จักเท่าทันต่อสถานการณ์ที่ล่อแหลมกับอันตรายที่จะเกิดขึ้น สอนให้รู้จักปกป้องสิทธิของตนเอง และรู้จักช่วยเหลือผู้อื่นด้วย อีกทั้งต้องปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องเรื่อง “ชายหญิงเท่าเทียมกัน” ไม่ทำร้ายกัน ส่วนผู้ชายต้องไม่มองผู้หญิงเป็นเพียงแค่เครื่องระบายอารมณ์เพียงอย่างเดียว

เพียงแค่นี้ก็สามารถ! ยุติความรุนแรงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้... หรือจะรอให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับคุณและคนที่คุณรักก่อน ถึงจะเล็งเห็นถึงความสำคัญ! ซึ่งวันนั้นอาจจะเป็นวันที่สายเกินไปแล้วก็ได้...ใครจะรู้!


ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/node/12426
Update: 25-11-52

วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

'ผู้สูงอายุ' กับการตกเป็นเหยื่อ 'ความรุนแรง'

               เหลืออีกไม่กี่วันก็จะเข้าช่วง “เทศกาลปีใหม่” มีวันหยุดยาว ใครหลาย ๆ คน กำลังเตรียมตัวเดินทาง กลับบ้านเยี่ยมพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยชรา เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณที่เลี้ยงดูเรามา แต่อีกด้านหนึ่งของสังคมใครจะรู้ว่ายังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องถูกทอดทิ้งและต้องตกเป็น “เหยื่อ” ของ “ความรุนแรงในสังคม”

            ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ แม้จะยังมีไม่มากเท่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและสตรี แต่แนวโน้มปัญหาความรุนแรงในผู้สูงอายุก็มีจำนวนเพิ่มมาก เห็นได้จากภาพข่าวทางโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีการนำเสนออย่างต่อเนื่อง!?!

            ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งจากคนใกล้ชิดและคนในสังคม ที่ดูเหมือนจะมีเพิ่มมากขึ้นทุกวันนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมต้องหันกลับมามองและหาทางออก เพื่อป้องกันและช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที!!!
 
รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางในการจัดการปัญหาผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า จากการทบทวนการศึกษาวิจัยในประเทศไทย ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เกิดจากคนในครอบครัว ซึ่งโดยมากเป็นการกระทำด้านจิตใจและอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็น การใช้วาจา คำพูด การแสดงกิริยาท่าทางที่ไม่ให้ความเคารพ รังเกียจ ไม่เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ  
   
           รองลงมาเป็นเรื่องการทอดทิ้งไม่ดูแล หรือไม่ให้การดูแลที่เหมาะสม โดยปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการที่ผู้ดูแลเกิดความเครียด เพราะมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาสูงขึ้น  ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายภาครัฐ และสังคม ในการจัดระบบรองรับเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ที่ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องการดูแลระยะยาว และหากไม่รีบดำเนินการแล้ว ปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ที่ผ่านมาสังคมไทยรับรู้เรื่องปัญหาการถูกกระทำความรุนแรงในกลุ่มเด็กและสตรีมากกว่าความรุนแรงในผู้สูงอายุ สาเหตุเพราะเป็นปัญหาที่ซ่อนเร้น และขาดการรายงานปัญหา รวมทั้งบุคลากรเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ได้ตระหนักและให้ความสำคัญแก่การกระทำรุนแรงในผู้สูงอายุ และประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดว่ามีการกระทำรุนแรงเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุจริง เพราะคิดว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับความกตัญญูกตเวทีต่อผู้สูงอายุ ขณะที่ผู้สูงอายุเองก็ไม่กล้าบอกหรือเล่าให้ผู้อื่นฟังว่าตนเองถูกกระทำรุนแรง

อย่างไรก็ตาม การที่คนในสังคมส่วนใหญ่เห็นว่าความรุนแรงในผู้สูงอายุยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ จึงส่งผลให้การตระหนักในการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุในเรื่องนี้ยังมีข้อจำกัด  อยู่ โดยนางพจนา ธรรมรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนามาตรการ กลไก สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันหน่วยงานที่ให้การสงเคราะห์ ช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับการกระทำรุนแรงยังมีอยู่จำกัด และส่วนใหญ่จะเน้นให้การช่วยเหลือ เด็กและสตรี ศ.ดร.จิราพร กล่าว

สอดคล้องกับ นพ.พรเพชร ปัญจปิยะกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การดำเนินการของศูนย์พึ่งได้ หรือศูนย์ OSCC ที่อยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ รับแจ้งและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเด็กและสตรีที่ได้รับความรุนแรง ซึ่งก็ยอมรับว่าในปัจจุบันข้อมูลและการเน้นผู้สูงอายุที่เป็นผู้ที่ได้รับผลจากความรุนแรงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและต้องเน้นให้ความช่วยเหลือในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น
   
 สำหรับในส่วนของประเด็นในเรื่องของกฎหมายที่คุ้มครองผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรงนั้น นางนงพรณ์ รุ่งเพชรวงศ์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 นั้น ได้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองกลุ่มผู้สูงอายุด้วย แต่คดีความรุนแรงในกลุ่มผู้สูงอายุยังมีน้อยมากในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับคดีความที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและสตรี  

            สาเหตุที่คดีความมีน้อยอาจเป็นเพราะผู้สูงอายุที่เป็นพ่อแม่ที่ชราไม่ต้องการแจ้งความดำเนินคดีกับลูก ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับการนำประเด็นความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ ไปเพิ่มเติมในแผนปฏิบัติการการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ โดยกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ให้เน้นหรือให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุด้วย
   
            รวมทั้งการระแวดระวังของบุคลากรทางการแพทย์ที่พบผู้สูงอายุ ที่มารับการตรวจรักษาที่ห้องฉุกเฉินหรือห้องตรวจผู้ป่วยนอก  ซึ่งข้อมูลจากการซักประวัติหรือลักษณะท่าทางที่อาจมีผลหรือทำให้มีข้อสงสัยว่าผู้สูงอายุมีปัญหาถูกกระทำรุนแรงมา เช่น ให้ข้อมูลประวัติที่ไม่ชัดเจน มีรอยฟกช้ำดำเขียว ร่องรอยของการถูกทำร้ายร่างกาย อาการหวาดกลัว การไม่ยอมให้ข้อมูล หรือสภาพทางกายที่แสดงถึงการขาดการดูแล ฯลฯ

ทั้งนี้ในปัจจุบันสังคมไทยกำลังเดินเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ทำให้ในอนาคตประชากรผู้สูงอายุ ก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในสังคม ปัญหาความรุนแรงในผู้สูงอายุก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน!?!
   
จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐ ครอบครัว รวมถึงทุกคนในสังคมจะปล่อยเฉย หรือไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่ได้อีกต่อไป!?

ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/node/13280
Update:04-01-53

วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ต้นแบบมาตรการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุอยู่ในเกณฑ์ที่สูง เฉลี่ยวันละ 30 คน หรือทุก 2 ชั่วโมงจะมีคนเสียชีวิต 3 คน เมื่อเทียบกับประเทศที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับไทย เช่น ฝรั่งเศสและอังกฤษ พบว่า ในปี 2550 ไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 12,492 คน บาดเจ็บ 973,104 คนสูงกว่าฝรั่งเศสถึง 3 เท่าที่มีผู้เสียชีวิต 4,620 คน บาดเจ็บ 77,007 คน ขณะที่อังกฤษมีผู้เสียชีวิตเพียง 298 คน และบาดเจ็บ 264,288 คน

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินการแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนของไทย พบว่าสอบตกในทุกมาตรการ ทั้งในเรื่องการลดความเร็ว ได้คะแนนเพียง 2 เต็ม 10 การลดการดื่มแล้วขับ ได้ 5 เต็ม 10 การใช้หมวกนิรภัยกับรถจักรยานยนต์ ได้ 4 เต็ม 10 การคาดเข็มขัดนิรภัย ได้ 5 เต็ม 10 ขณะที่การใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็กไม่ได้คะแนน คือ 0 เต็ม 10 ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 106 จาก 178 ประเทศที่สำรวจ

แม้จะมีการประกาศให้ไทยเป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยหวังลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ครึ่งหนึ่งภายใน 10 ปีข้างหน้า แต่หนึ่งปีผ่านไปยังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหามากนัก ซึ่งไทยอาจต้องนำตัวอย่างความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุจราจรในต่างประเทศ เช่น ยุโรป มาเป็นรูปแบบการดำเนินการลดปัญหาอุบัติเหตุ

ก่อนหน้านี้ การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในประเทศแถบยุโรปเกิดจากปัญหาที่หลายประเทศรวมทั้งไทยกำลังประสบอยู่ นั่นคือผู้ขับขี่มักไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร ขาดการบังคับใช้กฎหมายจากภาครัฐอย่างจริงจัง ขณะที่ตำรวจจราจรก็มีน้อย อุปกรณ์มีจำกัด และไม่ได้ถูกบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ยุโรปจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จนมีข้อมูลงานวิจัยยืนยันว่าสามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงได้ถึงกว่าร้อยละ 50

หลักของการบังคับใช้กฎหมายในยุโรป ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนใบสั่ง ค้นหาผู้กระทำผิด แต่เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการขับขี่และมีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันโดยเริ่มจาก

1. กำจัดความเร็วเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและลดการบาดเจ็บรุนแรง ซึ่งการลดความเร็วเฉลี่ยบนถนนลง 1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงได้ถึงร้อยละ 4 ส่วนคนเดินเท้าที่ถูกรถชนร้อยละ 85 หากถูกชนที่ความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะเสียชีวิต แต่หากลดความเร็วลงเหลือ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตเมื่อถูกชนเหลือเพียงร้อยละ 10

2. คาดเข็มขัดนิรภัย พบว่าสามารถลดการเสียชีวิตจาก 2.5 หมื่นคน ลงได้ถึง 1 หมื่นชีวิตแต่ต้องทำควบคู่ไปกับการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง

3. การฝ่าฝืนกฎจราจรเกี่ยวกับการให้ทางพฤติกรรมการฝ่าฝืนกฎจราจร เช่น ไม่จอดให้คนข้ามถนนข้ามเมื่อมีสัญญาณคนข้าม ขับรถฝ่าไฟแดง ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุสูงถึงร้อยละ 50 ซึ่งในยุโรปมีเทคโนโลยีการใช้กล้องเพื่อช่วยในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กล้องตรวจจับการฝ่าฝืนสัญญาณไฟ ได้ผลดีคุ้มค่าต่อการลงทุน แม้ประเทศไทยเริ่มมีใช้บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง

4. บังคับใช้กฎหมายดื่มแล้วขับ สร้างความชัดเจนเกี่ยวกับโทษ ผลกระทบและระดับแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมาย กลยุทธ์ในยุโรป คือทำให้ผู้ขับขี่เกิดความรู้สึกว่าตนเองมีโอกาสถูกจับได้ตลอดเวลา หากทำผิดกฎหมาย ด้วยวิธีการสุ่มตรวจด้วยเครื่องเป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ในทุกที่ ทุกเวลา และทำพร้อมกันเป็นวงกว้าง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขับขี่ไม่สามารถหลบหนีไปในเส้นทางอื่นได้

5. ตรวจวัดสมรรถนะความพร้อมของผู้ขับขี่ ไม่เพียงแต่ในผู้ขับขี่อาชีพ อย่างรถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก เท่านั้นแต่รวมไปถึงผู้ขับขี่รถโดยทั่วไปด้วย


ในประเทศยุโรปได้จัดทำข้อเสนอแนะในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการดำเนินงานได้คือ

     1. วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อกำหนดตัวชี้วัดด้านพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

     2. บูรณาการการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการรณรงค์ผ่านสื่อ อาศัยความรู้จากการศึกษาทดลองจากพื้นที่อื่นที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นแนวทางดำเนินงานและกำหนดทรัพยากรให้สอดคล้องในแต่ละกลยุทธ์

    3. พัฒนาระบบข้อมูลและระบบการฝึก เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะในการทำงานของตำรวจ บูรณาการการทำงานร่วมกันในระบบยุติธรรม เช่น กฎหมาย อัยการ ศาล เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพหลังจากการจับกุม

    4. สื่อสารถึงตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในระดับนโยบายหรือในกลุ่มตำรวจด้วยกันรวมทั้งพัฒนาเครือข่ายตำรวจทั้งภายในและระหว่างประเทศ

   5. ติดตามผลเพื่อเปรียบเทียบการบังคับใช้กฎหมาย ในแต่ละฐานความผิดกับการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับฐานความผิดดังกล่าว

"การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในประเทศแถบยุโรปเกิดจากปัญหาที่หลายประเทศรวมทั้งไทยกำลังประสบอยู่นั่นคือผู้ขับขี่มักไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมาย จราจร ขาดการบังคับใช้กฎหมายจากภาครัฐอย่างจริงจัง ขณะที่ตำรวจจราจรก็มีน้อย อุปกรณ์มีจำกัด และไม่ได้ถูกบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ"


ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/node/17684
Update : 25-10-53












ความปลอดภัยในการโดยสารเรือ

การจราจรบนถนนที่คับคั่งในปัจจุบัน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนหนึ่งหันมาใช้เส้นทางการจราจรทางน้ำกันมากขึ้น ซึ่งการโดยสารเรือมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับอันตรายจากอุบัติภัยทางน้ำ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย จึงขอแนะวิธีป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ และการโดยสารเรือที่ถูกต้องและปลอดภัย ดังนี้

ผู้ประกอบการโป๊ะเทียบเรือ ติดตั้งป้ายระบุจำนวนคนที่สามารถรองรับน้ำหนักได้บริเวณโป๊ะเทียบเรือ จัดวางพวงชูชีพที่พร้อมใช้งานตามมุมต่างๆของโป๊ะอย่างน้อย ๔ พวง ติดตั้งไฟส่องสว่างให้เพียงพอตลอดบริเวณโป๊ะ และทางขึ้นลงโป๊ะ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ควบคุมมิให้ประชาชนลงไปยืนบนโป๊ะเทียบเรือเกินกว่าจำนวนที่กำหนด

เจ้าของเรือ ตรวจสอบเรือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จัดเตรียมอุปกรณ์นิรภัยไว้ประจำเรือ เช่น เสื้อชูชีพ เครื่องดับเพลิง ติดตั้งป้ายระบุจำนวนผู้โดยสารบนเรือโดยสารในมุมที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่บรรทุกผู้โดยสารหรือสิ่งของเกินกว่าน้ำหนักที่กำหนด ในขณะที่เรือแล่นสวนทางกันหรือแซงกันในระยะใกล้ให้ลดความเร็วลง เพื่อป้องกันอันตรายจากคลื่นน้ำของเรือ ตลอดจนควบคุมผู้โดยสารมิให้นั่งหรือยืนบริเวณหัวเรือ กราบเรือ และหลังคาเรือ รวมถึงกระทำกิจกรรมใดๆ ภายในเรือ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เรือล่ม ที่สำคัญ ห้ามดื่มสุราหรือเสพของมึนเมาเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ขาดสติจนไม่สามารถควบคุมเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประชาชน หากว่ายน้ำไม่เป็นให้หลีกเลี่ยงการนั่งเรือเพียงลำพัง ควรให้มีเพื่อนร่วมเดินทางด้วย ถ้าต้องการเดินทางคนเดียว ให้บอกผู้ควบคุมเรือทราบ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้มีคนคอยให้ความช่วยเหลือ

การโดยสารเรือที่ถูกต้องปลอดภัย ควรปฏิบัติ ดังนี้

การยืนรอเรือ ไม่รอเรือบนโป๊ะหรือยืนชิดขอบโป๊ะมากเกินไป ให้ยืนรอภายในเขตเส้นที่กำหนด เพราะขณะที่เรือจอดเทียบท่า คลื่นอาจซัดทำให้ท่าเรือโคลงเคลง จนผู้ที่ยืนบนโป๊ะเสียการทรงตัวและพลัดตกน้ำ

การขึ้น - ลงเรือ รอให้เรือจอดเทียบท่าก่อนจะขึ้น - ลงจากเรืออย่างเป็นระเบียบ ไม่แย่งกันขึ้น - ลงเรือ อาจทำให้เรือโคลงเคลง หากมีผู้โดยสารมากไม่ควรลงเรือไปเสริม เพราะเรือที่บรรทุกเกินอัตราเสี่ยงต่อการล่มได้ง่าย

การโดยสารทางเรือ นั่งเรือให้เป็นที่และหาที่ยึดเกาะให้มั่นคง ไม่หยอกล้อเล่นกันหรือเดินไป – มา ในขณะที่เรือกำลังแล่น เพราะอาจทำให้เรือเสียการทรงตัว หลีกเลี่ยงการยืนบริเวณท้ายเรือ หรือกราบเรือ เพราะเสี่ยงต่อการพลัดตกน้ำ ให้กระจายการนั่งบนเรืออย่างสมดุล และคำนึงถึงการทรงตัวของเรือเป็นหลัก หากเรือมีอาการเอียงหรือไหว ให้นั่งนิ่งๆ อย่าตื่นตระหนก พยายามฝืนอาการเอียงของเรือ เมื่อเรือจอดเทียบท่า ให้ทยอยกันขึ้นจากเรืออย่างเป็นระเบียบ ส่วนผู้โดยสารที่ยังอยู่ในเรือให้ขยับที่นั่งใหม่ เพื่อให้เรือทรงตัวในลักษณะสมดุลที่สุด

กรณีพลัดตกเรือ ควบคุมสติให้มั่น พยุงตัวให้ลอยน้ำโดยใช้ขาทั้งสองข้างตีน้ำ หรือหาที่ยึดเกาะเพื่อรอการช่วยเหลือ อย่าว่ายน้ำเข้าหาฝั่งเอง เพราะอาจหมดแรงหรือเป็นตะคริวจมน้ำเสียชีวิตได้

หากเรือโดยสารล่ม อย่าตื่นตระหนก ตั้งสติให้มั่น พยายามว่ายน้ำผละออกจากเรือโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันถูกดูดเข้าไปใต้ท้องเรือและถูกใบพัดเรือตีจนได้รับบาดเจ็บ และพยุงตัวลอยน้ำไว้ ถอดสิ่งของที่ถ่วงน้ำหนักออกให้หมด รวมทั้งคว้าสิ่งของที่ช่วยให้ลอยน้ำได้ เช่น ยางรถยนต์ ถังน้ำ เพื่อรอการช่วยเหลือ

แม้การจราจรทางน้ำจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ แต่หากประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการโดยสารเรือ เรียนรู้วิธีปฏิบัติตนที่ถูกต้องและปลอดภัยในการโดยสารเรือ รวมถึงวิธีปฏิบัติตนหากเรือประสบอุบัติเหตุหรือตกน้ำ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยทางน้ำ และทำให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉินทางน้ำ

ที่มา : www .thaihealth.or.th/node/15584/