วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553

คลิปความรุนแรงผลกระทบต่อสังคมเด็กและเยาวชน


















เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ ซึ่งเป็นเครือข่ายที่เกิดจากจิตของบรรดาพ่อๆ แม่ๆ ที่ตระหนักถึงผลกระทบสื่อต่อเยาวชนและครอบครัว ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง "สังคมได้อะไร? จากการนำเสนอคลิปข่าวรุนแรง" เนื่องจากเห็นว่าการนำเสนอความรุนแรงผ่านสื่อที่มีจำนวนความถี่มากของสื่อมวลชน ทำให้เกิดความชินชา กลายเป็นเรื่องปกติในสังคม เพราะขณะนี้สังคมเข้าสู่ยุคการหลอมเหลวรวมสื่อ (Crimes Convergence) สื่อทุกประเภทถูกรวมเข้าด้วยกันโดยมีตัวการเป็นสื่ออินเทอร์เน็ตเมื่อทุกอย่างถูกหลอมรวมก็จะกลายเป็นอาชญากรรมออนไลน์ทำให้เด็กไทยที่ไม่มีวุฒิภาวะในการใช้สื่อแต่มีความสามารถในการแบ่งปันข้อมูล โดยเฉพาะการถ่ายคลิปวิดีโอซึ่งถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก สร้างผลผลิตที่ไม่เหมาะสมออกสู่สังคม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงกระบวนการในการสื่อสารที่ผู้รับสารเป็นผู้ผลิตเนื้อหาข้อมูลข่าวสารและเป็นผู้แพร่สารเอง อีกทั้งการนำเสนอข่าวสารของสื่อที่ไม่ได้ลดระดับความรุนแรงลง กลับทำให้เกิดความขยายความรุนแรงมากขึ้น

นพ.กมล แสงทองศรีกมล กุมารเวชเชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า มีรายงานการวิจัยพบว่า การเห็นฉากที่เต็มไปด้วยความรุนแรงซ้ำๆ กัน จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและกลุ่มคนมีความหวั่นไหวทางอารมณ์ หรือกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมซึมเศร้า ซึ่งกลุ่มเด็กเล็กจะตอบสนองต่อความรุนแรงในทันที โดยจะไม่คำนึงถึงความเจ็บปวดของผู้อื่น เพราะเด็กไม่มีวุฒิภาวะที่จะไตร่ตรอง ส่วนกลุ่มคนที่เป็นโรคซึมเศร้า พร้อมที่จะกระทำความรุนแรงซ้ำกับสิ่งที่เห็นทันที เช่น การฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง และสิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เรื่องความรุนแรงในเพศหญิง ที่มีแนวโน้มการเกิดความรุนแรงมากขึ้น

ซึ่งในความเป็นจริง ถูกแล้วที่สื่อมีหน้าที่ต้องนำเสนอแต่ก็จริงอีกที่ทุกครั้งที่มีการนำเสนอความรุนแรงซ้ำๆ ก็จะเกิดการกระตุ้นทำให้เกิดอารมณ์ร่วม แต่การจะไม่นำเสนอเลยก็ย่อมไม่สามารถนำได้ ดังนั้นจึงต้องเกิดกระบวนการควบคุมการนำเสนออย่างพอดี จำต้องเปลี่ยนแปลงการสอนจริยธรรมในระบบการศึกษาใหม่ ให้รู้จักจิตสาธารณะของสังคมและความรู้สึกมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อสังคม


ปัจจุบัน ทัศนะของสังคมไทยที่มีต่อข่าวความรุนแรงที่เกิดจากการเลียนแบบของเยาวชนผ่านสื่อนั้น เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและรู้สึกหดหู่ สะเทือนใจ โดยสาเหตุที่ทุกๆคนจะพูดถึงเสมอๆ คือ การที่ไม่ได้หรือขาดโอกาสในการได้รับการชี้แนะหรือการสั่งสอนอย่างถูกต้องจากผู้ใหญ่หรือคนในครอบครัว ซึ่งได้มีผลสำรวจจากสวนดุสิตโพลระหว่างวันที่ 23-25 กันยายน ว่าวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ร้อยละ 38.40 เห็นว่าต้องเริ่มจากครอบครัวที่มีการดูแลเอาใจใส่ และการอบรมสั่งสอนที่ดี ดังนั้น สถาบันที่เล็กที่สุดแต่สำคัญที่สุดอย่างสถาบันครอบครัว จึงเป็นโจทย์หนึ่งในการแก้ปัญหาในรูปแบบของการให้ภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อป้องกันความรุนแรงผ่านสื่อที่เกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา

การแก้ปัญหาใดๆ ของสังคมสักหนึ่งปัญหา ก็ต้องมีผู้ช่วยแก้เป็นคนในสังคมนั้นๆ เนื่องจากสังคมเป็นสภาพของการอยู่ร่วมกันที่ซับซ้อนบนความสัมพันธ์ที่หลาหลาย การจะคลายปมก็ต้องได้รับความร่วมมือที่หลากหลาย ซึ่งในกรณีปัญหาคลิปความรุนแรงนี้ ทางสื่อมวลชนก็ต้องลดความถี่ของการนำเสนอลงและควบคุมการนำเสนออย่างเหมาะสมและพอดีควรสร้างจรรยาบรรณทางวิชาชีพด้านข่าวให้เข้มแข็ง ทางด้านหน่วยงานภาครัฐ ควรเร่งให้ความรู้และทำความเข้าใจกับผู้ใช้สื่อให้รู้เท่าทัน และทำงานอย่างจริงจัง ทางด้านผู้บริโภคก็ต้องไม่เลือกหรือไม่สนับสนุนที่จะบริโภคสื่อที่ไม่มีการควบคุมการนำเสนออย่างพอดีและเหมาะสม ซึ่งเป็นพลังทางสังคมที่แข็งแกร่งรวมถึงผลักดันให้เกิดกลไกในการมีส่วนร่วมของประชาชนในกานำเสนอสื่อ ที่สำคัญครอบครัวต้องเห็นความสำคัญและตระหนักมากๆ ถึงผลกระทบของความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นจึงต้องเกิดกระบวนการเรียนรู้ขึ้นภายในครอบครัวของตนมีเวลาเพื่อการแลกเปลี่ยนพูดคุยเมื่อรับชมข่าวสาร มีทัศนะในการดูแลเอาใจใส่พฤติกรรมการบริโภคสื่อของสมาชิกในบ้าน


ทั้งนี้ สังคมจะดีได้ ก็ต้องดีด้วยคนในสังคมเอง...


ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/node/11535
Update: 13-10-52