วันพฤหัสบดีที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2553



















ความรุนแรงยุติได้ด้วย "พลังสังคม"

 ความคิดแบบนี้หรือเปล่า? ที่ทำให้ผู้หญิงในบ้านเมืองของเรา ยังคงถูกคุกคามจาก “การกระทำความรุนแรง โดยเฉพาะจากคนใกล้ชิด อีกทั้งปัญหาเหล่านี้ยังคงถูกเพิกเฉยจากผู้คนรอบข้างและผู้พบเห็น เพราะความเข้าใจที่ว่า นั่นคือปัญหาภายในครอบครัว อย่าเข้าไปยุ่งจะดีเสียกว่า!!! แล้วคุณรู้หรือไม่ว่า...ความคิดเหล่านี้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้หญิงทั้งร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณอันเป็นการลิดรอนสิทธิในชีวิตและร่างกายของผู้หญิง ตลอดจนส่งผลกระทบต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวมตามมาอีกด้วย...

หลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิง นั้นหมายถึงการกระทำความรุนแรงทางเพศเพียงอย่างเดียวเท่านั้น “แต่ไม่ใช่เลย” เพราะความจริงแล้วความรุนแรงต่อผู้หญิงหมายถึง “การกระทำใดๆ ที่เป็นความรุนแรงที่เกิดจากอคติทางเพศ ซึ่งเป็นผลให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันเสรีภาพทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว”

อีกหนึ่งความรุนแรง คือ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ทั้งจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่รับผิดชอบของฝ่ายชายหรือจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และการไม่สามารถต่อรองเรื่องการคุมกำเนิดกับคู่ครองได้ รวมถึงการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ ติดเชื้อเอดส์จากสามี หรือจากการถูกละเมิดทางเพศ การนำเสนอผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ เป็นการมองว่าผู้หญิงเป็นวัตถุที่สามารถดึงดูดได้ในสื่อลามกต่างๆ การโฆษณาสินค้า รวมทั้งการแอบถ่ายคลิปฉาวต่างๆ และการล่อลวงมาบังคับค้าประเวณี หรือใช้แรงงานเยี่ยงทาส ทั้งหมดนี้ถือเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมบ้านเราแทบทั้งสิ้น...

จากข่าวคราวในหน้าหนังสือพิมพ์ เป็นสิ่งหนึ่งบ่งบอกได้ชัดเจนว่าความรุนแรงยังคงมีอยู่มากในสังคมไทย จากการเก็บรวบรวมข้อมูลของมูลนิธิเพื่อนหญิงในปี 51 ที่ผ่านมา พบว่า ยังมีการละเมิดทางเพศกว่าสูงถึง 227 ข่าว โดยแบ่งได้เป็น การข่มขืน 133 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 50 ข่มขืนและฆ่า 17 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8 พยายามข่มขืน 30 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 13 พยายามข่มขืนและฆ่า 9 ข่าว  คิดเป็นร้อยละ 4 รุมโทรม 27 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 12 รุมโทรมและฆ่า 2 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 1 อนาจาร 19 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 8 และพรากผู้เยาว์ 10 ข่าว คิดเป็นร้อยละ 4

 และที่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น...เมื่อผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงส่วนใหญ่เป็น เยาวชน แทบทั้งสิ้น โดยเป็นเด็กหญิงและผู้หญิงสูงถึง 222 ราย หรือร้อยละ 79 มีอายุประมาณ 11-15 ปี 105 ราย หรือร้อยละ 38 อายุระหว่าง 16-20 ปี 48 ราย หรือร้อยละ 17 และอายุระหว่าง 4-10 ปี 44 ราย หรือร้อยละ 16 และยังพบว่า...มีผู้ถูกกระทำที่อายุน้อยที่สุดคือ อายุ 3 ขวบ โดยผู้กระทำเป็นคนในเครือญาติ ส่วนผู้ถูกกระทำที่อายุมากสุดคือ 55 ปี...     
 
ส่วนในผู้กระทำความรุนแรงมีทั้งหมด 355 ราย ช่วงอายุที่กระทำมากที่สุดคือ อายุระหว่าง 16-20 ปี มีทั้งหมด 100 ราย หรือร้อยละ 28 อายุระหว่าง 31-40 ปี 36 ราย หรือร้อยละ 10 อายุระหว่าง 21-25 ปี 33 ราย หรือร้อยละ 9 และพบผู้กระทำความรุนแรงที่อายุน้อยที่สุดคือ 11 ขวบ จำนวน 2 คน โดยกระทำร่วมกับรุ่นพี่อายุ 13 ปี รุมโทรมเด็กผู้หญิงอายุ 7 ปี โดยมีพฤติกรรมเลียนแบบมาจากเว็บโป๊ที่เคยดูจากร้านอินเตอร์เน็ต ส่วนผู้กระทำที่อายุมากสุดคือ 72 ปี

แล้วคุณเลยรู้หรือไม่ว่า...ผู้ที่ถูกกระทำนั้น ประกอบอาชีพอะไร จากข้อมูลของมูลนิธิฯ ยังบ่งบอกว่า อาชีพที่ถูกกระทำความรุนแรงมากที่สุดคือ นักเรียน มีมากถึง 142 ราย หรือร้อยละ 51 รองลงมาเป็นอาชีพรับจ้าง 14 หรือร้อย 5 ราย และพนักงานร้านอาหาร/คาราโอเกะ 14 ราย ร้อยละ 5

และที่ไม่น่าเชื่อก็คือ การกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่มาจากคนรู้จัก เช่น เพื่อน เพื่อนบ้าน เพื่อนร่วมหอพัก เพื่อนนักเรียน ครู/อาจารย์ กับลูกศิษย์ หรือใกล้ชิด มากถึง 109 ข่าว หรือร้อยละ 48 ที่แย่ไปกว่านั้น!!! ยังพบว่าเป็นบุคคลในครอบครัวที่เป็นผู้กระทำถึง 20 ราย หรือร้อยละ 9 เป็นพ่อ-ลูก มากที่สุด 6 ราย รองลงมาคือ พ่อเลี้ยง-ลูกเลี้ยง 5 ราย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้น...

นอกจากนี้ยังมีผู้กระทำที่ไม่เคยรู้จักกันอีก 64 รายหรือร้อยละ 28 เช่น ผู้กระทำเข้าไปลักทรัพย์แล้วข่มขืนเจ้าทรัพย์ เป็นคนที่เคยพบกันครั้งแรกแล้วถูกล่อลวง หรือถูกฉุดไปข่มขืนอีกด้วยแต่เหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงต่อผู้หญิงยังคงมีอยู่ในประเทศของเรานั้น!! เป็นเพราะเหยื่อที่ถูกกระทำส่วนใหญ่ ไม่ได้ดำเนินการเอาเรื่องกับผู้กระทำผิด ซึ่งเหตุผลอาจมีมากมายไม่ว่าจะหวาดกลัวการถูกทำร้ายซ้ำ เกรงสังคมจะตราหน้าให้อับอาย กลัวพ่อแม่ดุด่า ซึ่งนั่นยิ่งเป็นช่องทางส่อให้เกิดความรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก...

แล้วที่ไหนล่ะ!! ที่เรามักพบเห็นความรุนแรง

จากการจัดอันดับพบว่า สถานที่ที่เกิดความรุนรงมากสุด 3 อันดับแรก คือ  บ้านหรือห้องของผู้กระทำ 52 ราย หรือร้อยละ 23 รองลงมา บ้านหรือห้องพักผู้ถูกกระทำ 45 ราย หรือร้อยละ 20 และโรงแรม/รีสอร์ท 21 ราย ร้อยละ 9 โดยเหตุที่เกิดในบ้านเป็นจำนวนมาก เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ เนื่องจากเป็นคนที่รู้จักคุ้นเคยกัน ทำให้เกิดความไว้ใจเข้านอกออกในบ้านได้ ดั้งนั้นเหตุการณ์จึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในพื้นที่สองแห่งนี้ ส่วนที่เกิดเหตุที่เป็นโรงแรมและรีสอร์ทนั้น ผู้ถูกกระทำมักจะถูกฉุดหรือล่อลวงไปในที่แห่งนั้น

ในส่วนของต้นต่อปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้นนี้ คงจะหนีไม่พ้นมัจจุราชร้ายอย่าง แอลกอฮอล์ ที่เป็นตัวกระตุ้นทำให้กระทำการใดๆ โดยขาดการยั้งคิด ซึ่งที่ผ่านมาพบปัญหาความรุนแรงโดยสาเหตุจาก แอลกอฮอล์ทั้งหมด 41 ราย ซึ่งผู้กระทำดื่มก่อนลงมือก่อเหตุ 34 รายหรือร้อยละ 83 ของปัจจัยกระตุ้นทั้งหมด เสพยาเสพติด เช่น เสพยาบ้า ดมกาว 4 ราย หรือร้อย 10 ดูสื่อลามก 3 รายหรือร้อยละ 7 นอกจากนี้ผู้กระทำบางรายยังรับสารภาพว่าเมื่อเมาแล้วเกิดอารมณ์ทางเพศ จนควบคุมอารมณ์ไม่ได้ บางรายนอกจากดื่มเหล้าแล้วยังดูสื่อลามกร่วมด้วย

จากข้อมูลศูนย์พิทักษ์สิทธิสตรี มูลนิธิเพื่อนหญิง ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ระบุว่าจากการบริการให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงที่ประสบปัญหาวิกฤตความรุนแรง เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ถูกละเมิดทางเพศ ในปี 2551 ที่ผ่านมา พบผู้หญิงประสบปัญหาความรุนแรงเพียง 73 ราย หรือร้อยละ 10 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นจำนวนตัวเลขที่น้อยหากเปรียบเทียบกับข่าวในหนังสือพิมพ์ที่พบเจอ โดยส่วนใหญ่ก็จะเข้ามาขอรับคำปรึกษาด้านสังคมสงเคราะห์ ถึง 179 กรณี เนื่องจากมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิต ซึ่งแบ่งได้เป็น 1. ทำหวาดกลัว สับสวนและเครียดถึง 61 กรณี 2. ทำให้อึดอัด อับอาย ไม่กล้าบอกใคร 36 ราย 3. คดีไม่คืบหน้า ไม่ได้รับความเป็นธรรม 27 กรณี 4. ทำให้เกิดวิตกกังวลในการการสอบปากคำ การสืบพยาน 12 กรณี 5. ถูกข่มขู่ คุกคาม 11 กรณี 6. ต้องการที่พัก 10 กรณี 7. สามี/อดีตสามีทำร้ายร่างกาย คุกคาม ไม่รับผิดชอบ 9 กรณี 8. ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจากการถูกข่มขืน 7 กรณี 9. ต้องการอาชีพ 3 กรณี 10. พ่อแม่ขัดแย้งกับลูก (กรณีอยากให้เลิกกับแฟน) 2 กรณี และ 11. ถ่ายคลิปวิดีโอ 1 กรณี

“ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง” คงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป ถึงเวลาที่สังคมต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน คงไม่ใช่เพียงแค่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเท่านั้น แต่นั่นหมายถึงทุกคนในสังคมร่วมมือกันช่วยเหลือเพื่อนผู้ที่ประสบเหตุไปพร้อมๆ กันโดยไม่ทอดทิ้งกัน หากพบเห็นความรุนแรงในครอบครัว หรือในสังคม อย่าเงียบเฉย รีบแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานรัฐ หรือองค์กรเอกชน เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกกระทำความรุนแรง นอกจากนี้ยังต้องช่วยกันอบรมสั่งสอนลูกหลานให้รู้จักเท่าทันต่อสถานการณ์ที่ล่อแหลมกับอันตรายที่จะเกิดขึ้น สอนให้รู้จักปกป้องสิทธิของตนเอง และรู้จักช่วยเหลือผู้อื่นด้วย อีกทั้งต้องปลูกฝังค่านิยมที่ถูกต้องเรื่อง “ชายหญิงเท่าเทียมกัน” ไม่ทำร้ายกัน ส่วนผู้ชายต้องไม่มองผู้หญิงเป็นเพียงแค่เครื่องระบายอารมณ์เพียงอย่างเดียว

เพียงแค่นี้ก็สามารถ! ยุติความรุนแรงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้... หรือจะรอให้เรื่องนี้เกิดขึ้นกับคุณและคนที่คุณรักก่อน ถึงจะเล็งเห็นถึงความสำคัญ! ซึ่งวันนั้นอาจจะเป็นวันที่สายเกินไปแล้วก็ได้...ใครจะรู้!


ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/node/12426
Update: 25-11-52