วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555



รับมือโรคหลงลืม ..... สมองเสื่อมก่อนจะสาย

โรคหนึ่งที่มักมากับอายุที่เพิ่มขึ้นก็คือ โรคสมองเสื่อม โดย พญ.ดาวชมพู นาคะวิโร เปิดเผยว่า จากการวิจัยพบว่าอัตราการเกิดโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุไทยมีเพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้นจากร้อยละ 1 ในช่วงอายุ 60-64 ปี เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31 หรือเกือบ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 90 ปีขึ้นไป

สำหรับการรับมือกับโรคสมองเสื่อมนั้น พญ.ดาวชมพูระบุว่า การหาความรู้ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคทั้งลักษณะสาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน และรักษาโรคสมองเสื่อม  สามารถที่จะนำไปสู่การดูแลตนเองตามที่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อป้องกันภาวะเสื่อมของสมองหรือชะลอการเสื่อมได้ โดยอันดับแรกที่ควรรู้คือ รู้ว่าโรคนี้คืออะไร  ซึ่ง พญ.ดาวชมพูอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ว่า โรคสมองเสื่อมคือ ความเสื่อมของสมองที่ทำให้สมองมีการทำงานเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ ซึ่งโดยทั่วไปสมองจะทำงาน 4 หน้าที่หลัก คือ จำ คิด พูด ทำ

ในรายที่มีภาวะสมองเสื่อมจะสังเกตได้ว่าการทำงานของสมองด้านใดด้านหนึ่งใน 4 หน้าที่นี้ผิดปกติไป เช่น ความจำไม่ดี คิดไม่ต่อเนื่อง พูดซ้ำ ถามซ้ำหรือเรียกชื่อไม่ถูก


และมีพฤติกรรมไม่หมาะสม โดยเฉพาะเรื่องความจำที่เป็นอาการหลักของโรคสมองเสื่อม เมื่อผิดปกติก็นำไปสู่ความบกพร่องของด้านอื่นๆ ด้วย   จึงควรทำความเข้าใจปัญหานี้ก่อน เพราะปัญหาความจำ หรือการหลงลืม จริงๆ แล้วก็พบในคนปกติด้วย จึงควรแยกให้ได้ว่าลืมแบบไหนถึงจะคิดถึงโรคสมองเสื่อม

สาเหตุที่ทำให้คนเราหลงลืม หลัก ๆ ก็จะมีอยู่ 2 อย่าง ถ้าจำง่ายๆ แยกคำออกมา 'หลง' คือขาดสติ หรือขาดความรู้ตัวไปชั่วขณะ
ทำให้ไม่สามารถรับรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ จึงดูเหมือนความจำหายไป แต่สมองส่วนเก็บข้อมูลยังเป็นปกติ ส่วนคำว่า 'ลืม' นั้นคือความจำหายไป เพราะสมองส่วนที่เก็บข้อมูลทำงานบกพร่อง


ซึ่งทำให้ผู้มีภาวะสมองเสื่อมจะลืมสิ่งที่เรียนรู้ช่วงเวลาหนึ่ง เช่น รับประทานอาหารแล้ว แต่พอถามอีกทีว่าทานข้าวหรือยังก็จำไม่ได้เลย หรือบางคนเป็นมากขนาดไปเที่ยวต่างประเทศมาหลายวัน
พอกลับมาแล้วถามว่าไปไหนมาบ้างก็จำไม่ได้แล้ว แต่ในคนทั่วไปที่ยังไม่ได้ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม อาจจะมีอาการหลงลืมชั่วคราวได้ เช่น วางของแล้วใจลอยคิดถึงเรื่องอื่น ก็จะทำให้จำไม่ได้ว่าวางของไว้ที่ไหน

พญ.ดาวชมพูให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ส่วนความผิดปกติที่แสดงออกมาอื่นๆ ที่น่าห่วงคือ ในรายที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ “ผลของโรคสมองเสื่อมอาจจะทำให้พฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิมเช่น เดิมเป็นคนเรียบร้อยแต่ปัจจุบันขี้หงุดหงิด เสียงดัง โวยวาย ทำอะไรที่ต่างจากเดิมชัดเจน ที่พฤติกรรมเปลี่ยนอาจเกิดมาจากโรคทางด้านอารมณ์ที่แทรกซ้อน หรือเกิดจากสมองส่วนที่ควบคุมความคิด
การกระทำให้เหมาะสม มีความยับยั้งชั่งใจเสียไป จนเกิดพฤติกรรมแปลกกว่าที่เคยทำ เช่นมีความก้าวร้าวและคุกคามผู้อื่นมากขึ้น ทำให้ญาติหรือผู้ดูแลหนักใจได้”

สำหรับการเกิดโรคสมองเสื่อมนั้น พญ.ดาวชมพูให้ความรู้ว่า มีสาเหตุ 2 ประการ คือ สาเหตุที่แก้ไขได้ เช่น การติดเชื้อโรคบางอย่าง ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนไทรอยด์ไม่สมดุลและขาดวิตามิน ซึ่งถ้าได้รับการตรวจรักษาก็จะทำให้อาการดีขึ้นได้ สำหรับสาเหตุอีกประการนั้นแก้ไขไม่ได้ เนื่องจากความเสื่อมตามวัย หรือสมองมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่สามารถคืนกลับสภาพเดิม

ซึ่งโรคที่พบบ่อย 2 อันดับแรก คือ โรคอัลไซเมอร์และโรคหลอดเลือดสมอง หรืออื่นๆ เช่น โรคสมองเสื่อมที่แทรกซ้อนจากโรคพาร์กินสัน โรคสมองเสื่อมจากสมองส่วนหน้าและสมองด้านข้างฝ่อ เป็นต้น


ส่วนการรักษาที่มักมีคนถามว่า เป็นแล้วจะหายหรือไม่นั้น พญ.ดาวชมพูระบุว่า หากตรวจพบเร็วและรีบรักษาก็จะช่วยชะลอความเสื่อมได้ ซึ่งวิธีรักษาก็ขึ้นอยู่กับอาการและระดับความเสื่อม  โดยอาจใช้ยาที่ชะลอการเสื่อมช่วย หรือใช้ยาเพื่อช่วยลดปัญหาพฤติกรรม แต่ที่สำคัญที่สุดคือการป้องกันไม่ให้สมองเสื่อมเร็วขึ้น เช่น ควบคุมอาหาร ให้ระดับน้ำตาล ไขมัน และความดันให้เป็นปกติ

โดยเฉพาะรายที่เป็นโรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ยังต้องมีการกระตุ้นสมอง ซึ่งเปรียบเทียบเหมือนการออกกำลังกายที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง โดยใช้กิจกรรมบำบัด

เช่น ฝึกความจำด้วยการเล่นเกม ไพ่จับคู่ รวมถึงการปรับสิ่งแวดล้อม จัดบ้านให้เป็นระเบียบ มีที่เก็บของเป็นที่เป็นทางก็จะช่วยให้ลดปัญหาหลงลืมได้

สำหรับผู้ใกล้ชิดที่ต้องดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมนั้น พญ.ดาวชมพูแนะนำว่า ให้ใช้ความรัก ความเข้าใจ และความอดทน ซึ่งนอกจากการดูแลทางร่างกายและประคับประคองอาการแล้ว


ยังต้องดูแลทางด้านจิตใจของผู้ป่วยและตัวผู้ดูแลเองอีกด้วย เพราะดังที่กล่าวมาแล้วว่า การรักษาโรคสมองเสื่อมเป็นการประคับประคองหรือชะลออาการ ดังนั้นแม้ความจำของผู้ป่วยจะไม่เหมือนเดิม

แต่ผู้ป่วยก็สามารถรู้สึกดีขึ้นและมีความสุขกับการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ได้อย่างมีคุณค่า ซึ่งก็ทำให้คนดูแลและผู้ป่วยอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

สำหรับแนวทางการป้องกันโรคสมองเสื่อมไม่ให้เกิดก่อนวัยอันควรนั้น สามารถทำได้โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันปกติ ซึ่งมีคำแนะนำดังนี้ 1.อาหารกาย รับประทานน้ำให้เพียงพอ

ประมาณ 8 แก้วต่อวัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ และควบคุมอาหารที่มีผลต่อเส้นเลือดสมองดังที่กล่าวมาแล้ว 2.อาหารใจ เลือกรับข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ตนเองสบายใจ

ดูแลจิตใจให้มีความสุข มีเมตตา และปรารถนาดีกับผู้อื่น เพราะการจมอยู่กับความรู้สึกไม่ดี ความเครียด ทำให้มีการหลั่งสารเคมีที่ทำลายเนื้อสมองได้ 3.ฝึกสติ คอยรู้สึกตัวอยู่เสมอว่าขณะนี้กำลังทำอะไร   และใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ทำให้การเก็บข้อมูลที่จะนำไปสู่ความจำดีขึ้น ทำให้สมองทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งเป็นการป้องกันภาวะหลงลืมได้.


ที่มา : www.thaipost.net


                            
"อัลไซเมอร์" โรคใกล้ตัวของผู้สูงอายุ

คงต้องยอมรับว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้้ที่อยู่ยั่งยืนเป็น "อมตะ" ตลอดกาล เพราะทุกชีวิตต้องมี เกิด แก่เจ็บ และตาย ตามวัฏสงสารที่ถูกกำหนดไว้อย่างจริงแท้และแน่นอนตามกฎของธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม  สิ่งหนึ่งที่หลายคนค่อนข้างให้ความวิตกกังวลอยู่ไม่น้อยก็คือ การเจ็บไข้ได้ป่วยต่าง ๆ ที่มักมาเยี่ยมเยือนพร้อมกับอายุที่เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ  และหนึ่งในโลกที่กำลังเป็นปัญหาของบรรดาผู้สูงอายุในขณะนี้ก็คือ "อัลไซเมอร์"

ทั้งนี้  เนื่องจากผลพวงจากโรคนี้จะส่งผลทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบความจำที่เลือนหายไป.......... จากคุณพ่อที่ทำงานได้เก่งมากหรือคุณแม่ที่เป็นแม่ครัวชั้นหนึ่งของบ้าน  แต่ในวันนี้ลืมแม้กระทั่งวิธีจะยกช้อนกินข้าว

ปัจจุบันมีการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุขสำรวจพบว่า  มีคนไทยเป็นโรคสมองเสื่อมหรือที่เรียกว่า "อัลไซเมอร์" ประมาณ 218,000 คน  และได้มีการคาดการณ์ในอนาคต จะมีผู้สูงอายุที่มีปัญหาจากกลุ่มอาการสมองเสื่อม เพิ่มขึ้นในอัตราประมาณ 3.4 เปอร์เซ็นต์ และเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชายประมาณ 2  เท่า ในขณะที่คนอเมริกันกว่า 4.5 ล้านคนเป็นโรคอัลไซเมอร์ และเพิ่มขึ้นมากกว่า 4.5 ล้านคนเป็นโรคอัลไซเมอร์และเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่านับจากปี ค.ศ.1980

จากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ประชากรทุก 1 ใน 10 คน มีผู้ป่วยด้วยโรคอัลไวเมอร์อยู่ในครอบครัว  โดยเฉพาะโรคอัลไซเมอร์จะมีโอกาสสูงที่จะเกิดกับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป

สาเหตุของโรคนี้นั้นเกิดจากเซลล์สมองที่มีอยู่ได้เสื่อมสภาพลง   เพราะสมองของมนุษย์เรานั้นเปรียบเสมือนเครื่องจักร  เมื่อมีการใช้งานนานหลายปีก็จะเสื่อมสภาพลงจนไม่สามารถใช้งานได้กลายมาเป็นโรคอัลไซเมอร์ในที่สุด  ซึ่งจะส่งผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการบริหารจัดการในสิ่งต่าง ๆ ได้ เช่น การวางแผน การตัดสินใจ ว่าควรจะทำสิ่งนี้หรือไม่ควรทำ  รวมทั้งการเรียกชื่อ การสร้างประโยค หรือในส่วนที่เรียกว่า Executive Function หายไป

สำหรับสิ่งที่จะบ่งบอกได้ว่าเราเป็นโรคอัลไซเมอร์ หรือไม่นั้น  น.พ.สุนัย  บุษราคัมวงษ์  แพทย์สาขาอายุรแพทย์โรงพยาบาลผู้สูงอายุ กล้วยน้ำไท  ได้บอกว่า ก่อนที่แพทย์จะทำการวินิจฉัยผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ จะต้องเริ่มจากการศึกษาโครงสร้างของสมองก่อน  เพราะโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกี่ยวกับสมองของคนเราโดยตรง

ทั้งนี้ สมองคนเรานั้นจะมีทั้งหมดด้วยกัน 4 ส่วน ถ้าสมองส่วนใดมีปัญหาก็จพทำให้การรับรู้ส่วนนั้นมีปัญหาไปด้วย และทางเจ้าหน้าที่และทีมแพทย์ก็จะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งดดยปกติสมองจะมี 4 ส่วนด้วยกัน คือ
  • สมองซีกซ้าย  ซึ่งเป็นสมองส่วนที่เด่น จะทำหน้าที่ในการเรียนรู้ในเรื่องของภาษา กาารคิดคำนวณ  ถ้าสมองซีกซ้ายเกิดการชำรุด หรือเสื่อมไปก็จะส่งผลให้ไม่สามารถใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง เช่น เห็นพี่ชายคนโต รู้ว่าเป็นพี่ชายคนโตแต่ก็ยังเรียกชื่อผิด  ถึงเจ้าตัวจะบอกแต่ก็ยังเรียกผิดอยู่
  • สมองซีกขวา เป็นส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการคิดในเรื่องระยะทาง หรือจินตนาการ  ถ้าผูป่วยที่สสมองส่วนกลางมองส่วนนี้มีปัญหา จะทำให้ไม่สามารถจดจำสถานที่ที่เคยไปเป็นประจำได้  หรือการหลงทิศ เช่นเมื่อเดินไปที่ไหนเป็นประจำแต่มีอยู่วันหนึ่งไม่สามารถจำทางกลับบ้านได้
  • สมองส่วหน้า   ทำหน้าที่เรียนรู้สิ่งใหม่่  รวมทั้งการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ถ้าผู้ป่วยมัปัญหาเกี่ยวกับสมองส่วนหน้า  จะไม่สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับข้อมูลใหม่ ๆ ได้ และจะลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปสด ๆ ร้อน ๆ
  • สมองส่วนกลาง  ถือว่าเป็นส่วนที่ใช้ในการจดจำสิ่งต่าง ๆ ถ้าสมองส่วนนี้มีปัญหาจะส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถทพอะไรต่าง ๆ ได้ เช่น ไม่สามารถจดจำวิธีการต้มมาม่าที่ตัวเองต้มรับประทานอยู่เป็นประจำ
จากผลวิจัยได้มีการวิจัยพบว่าผู้ป่วยที่เป็นโรค "อัลไซเมอร์"  นั้นจะมีสัญญาณในการเตือนว่าคุณกำลังจะเป็นโรคอัลไซเมอร์  มีอยูหลายประการด้วยกัน เช่น ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปสด ๆ จนมีเหตุให้ต้องมีผลเสียต่อการทำงาน การใช้วิจารณญาณเสียไป ซึ่งในเรื่องของการใช้ววิจารณญาณที่เสียนี้จะเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุมาก  เพราะถ้าผูป่วยอยู่บนตึกที่สูงและคิดว่าตัวเองเป็นนกสามารถบินได้ เขาก็จะทำทันทีโดยไม่ได้คิดตรึกตรอง

รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์และพฤติกรรมอย่างรวดเร็ว  อาจจะมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า วิตกกังวล สับสนกระวนกระวายมากขึ้น  ถ้าหากว่าในบ้านของคุณมีผู้สูงอายุที่เข้าข่ายในอาการเหล่านี้นั้น ควรที่จะพาไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อทำการรักษา

คำถามที่ตามมาก็คือ  แล้าเราจะมีวิธีบำบัดรักษาผู้สูงอายุที่ป่วยเป็น "โรคอัลไซเมอร์" ได้อย่างไร

ในเรื่องนี้ นิรุทต์อมรคณารัตน์ นักกิจกรรมบำบัด บอกว่า ไม่ามารถรักษาให้หายขาดได้ หน้าที่ของการรักษานั้น มีเพียงแต่ทุเลาอาการให้น้อยลง และให้ผู้ป่วยนั้นสามารถช่วยเหลืือตัวเองได้เท่านั้นเอง

สำหรับวิธีการรักษาก็คือ   เจ้าหน้าที่จะให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมที่เคยทำอยู่เป็นประจำมาใช้ในการรักษา ก็คือ การให้ผู้ป่วยได้ฝึกการเล่นไพ่ เพราะการเล่นไพ่จะเป็นการฝึกให้ผู่ป่วยได้ใช้ความคิด ซึ่งเปรีบเสมือนการบริหารสมองให้ได้คิด และไม่น่าเบื่อ

นอกจากนั้น  วิธีที่น่าสนใจอีกวิธีก็คือ เจ้าหน้าที่จะใช้วิธีการบำบัดเป็นระบบ ซึ่งวิธีการรักาาแบบเป็นระบบนี้เจ้าหน้าที่จะคอยบอกผู้ป่วยที่ละขั้นตอนว่าจะทำอะไร เช่น การทานข้าว เพราะผู้ที่เป็นโรคนี้จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้  ดังนั้นจึงต้องแนะนำวิธีการทานข้าวเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจากการใช้ช้อนตักข้าว จนถึงการนำข้าวรับประทาน

การรักษาด้วยวิธีนี้จะทำให้ผู้สูงอายุไม่หงุดหงิดและมีความสุขเมท่อตัวเองสามารถทำสิ่งที่เจ้าหน้าที่บอกได้

อย่างไรก็ตาม  สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ  การดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคนี้  ผู้ดูแลจะต้องมีความอดทน และเข้าใจว่าเป็นอาการของโรคไม่ได้แกล้ง  ต้องมีความระมัดระวังและใช้ความใกล้ชิดในการดูแล เพราะผู้สูงอายุจะเดินออกจากบ้านแล้วหายไปเลย เพราะกลับบ้านไม่ถูก และสิ่งที่สำคัญที่สุดจะต้องไม่ใช้คำพูดที่กระตุ้นในส่ิงที่สะเทอนใจ  เพียงเท่านี้ท่านก็จะอยู่กับลูกหลานไปได้อีกนาน



ที่มา :  www.mamager.co.th
update : 12/10/2555