วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554












วัสดุกัมมันตรังสีเป็นวัตถุอันตรายประเภทหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากวัตถุประเภทสารเคมีหรือวัสดุอันตรายประเภทอื่นคือไม่มีสี ไม่มีกลิ่น จึงไม่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตา การตรวจสอบจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะในการตรวจสอบ  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมัสัญลักษณ์หรือป้ายเตือนติดไว้ที่ตัววัสดุกัมมันตรังสีหรือบริเวณที่มีการใช้งานวัสดุกัมมันตรังสี  เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดขึ้นกับประชาชน  โดยทั่วไปเราสามารถจำแนกป้ายเตือนทางรังสีตามลักษณะการใช้งานออกเป็น ดังนี้
  • ป้ายเตือนที่ติดอยูกับวัสดุกัมมันตรังสี  ป้ายเตือนดงกล่าวจะเป็นป้ายที่ติดอยู่กับวัสดุกัมมันตรังสีหรือเครื่องกำบังรังสีที่ใช้ป้องกันอันตรายจากรังสี  ส่วนใหญ่จะมีคำเตือนว่า โปรดระวัง วัสดุกัมมันตรังสี เป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาท้องถิ่น ตามประเทศที่ผลิตวัสดุดังกล่าว  โดยระบุชนิดของวัสดุกัมมันตรังสี ความรุนแรงหรือปริมาณของวัสดุกัมมันตรังสี และปีที่ทำการผลิตหรือทำการปรับเทียบความรุนแรงของวัสดุกัมมันตรังสี
  • ป้ายเตือนบริเวณที่มีการใช้งานวัสดุกัมมันตรังสีและห้องปฏิบัติการทางรังสี   ป้ายเตือนดังกล่าวเป็นป้ายเตือนให้ผู้ที่ปฏิบัติงานทราบว่าบริเวณดังกล่าวมีการใช้งานวัสดุกัมมันตรังสีหรือเครื่องกำเนิดรังสี  หรือมีระดับรังสีสูงกว่าค่าในธรรมชาติ หรือเป็นสถานที่จัดเก็บวัสดุกัมมันตรังสีโดยขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ในการใช้งาน  ปกติบริเวณดังกล่าวจะมีคำเตือนห้ามมิให้ผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าไปในบริเวณฯ ที่กำหนด หรือต้องปฏิบัติตัวตามข้อกำหนดต่าง ๆ เป็นพิเศษ
  • ป้ายขนส่งวัสดุกัมมันตรังสี  โดยปกติการขนส่งวัสดุกัมมันตรังสีจะต้องทำการขนส่งในหีบห่อที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสากลและสอดคล้องกับกฎระเบียบของทบวงการปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) โดยหีบห่อทุกชนิด (ยกเว้นแบบ Excepted) จะต้องติดป้ายเตือนอย่างน้อยสองด้านของหีบห่อและต้องบอกอัตราระดับรังสีที่พื้นผิวและที่ระยะ 1 เมตร 
ป้ายเตือนทางรังสีแบบใหม่

จากปัญหาการสื่อความหมายของป้ายเตือนวัสดุกัมมันตรังสีเป็นสัญลักษณ์ใบพัดสามแฉก  ซึ่งมีความหมายไม่ชัดเจนและรับรู้เฉพาะบุคคลที่มีการศึกษาหรือมีการปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับรังสีเท่านั้น  ทบวงปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ร่วมกับองค์กรมาตรฐานสากลระหว่างประเทศ The International Organization for Standardization (ISO)  จึงำเสนอสัญญลักษณ์ใหม่ในการเตือนอันตรายจากรังสีโดยเป็นสัญลักษณ์ การแผ่รังสี หัวกะโหลกไข้ว และคนวิ่งหนี เพื่อให้เกิดการยอมรับในระดับสากลแทนสัญลักษณ์ในพัดสามแฉก  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการตายและลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางรังสีจากวัตถุกัมมันตรังสีความแรงสูง  คาดว่าจะนำมาใช้กับวัสดุกัมมันตรังสีในกลุ่มที่ 1, 2 และ 3 ได้แก่
  1. เครื่องฉายรังสี (irradiators)
  2. เครื่องรังสีรักษา (teletherapy machines)
  3. เครื่องถ่ายภาพดัวยรังสี (industrial radiography units)
โดยติดไว้กับตัวภาชนะบรรจุวัสดุกัมมันตรังสีหรือบริเวณใกล้เคียง  โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวจะเป็นป้ายติดเพิ่มจากป้ายเตือนทางรังสีแบบเดิม


ที่มาข้อมูล :  http: // http://www.oaep.go.th/ / http://www.manager.co.th/
update : 26/04/2554

วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

การเอาตัวรอดจากการจมน้ำและการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ โดย เอมอร คชเสนี


ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงการช่วยเหลือคนตกน้ำ-จมน้ำ ตลอดจนวิธีปฐมพยาบาลกันไปแล้ว แต่หากตัวเรากลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเองและว่ายน้ำไม่เป็น เราจะเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำได้อย่างไร วันนี้มาติดตามกันต่อ พร้อมทั้งวิธีการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำด้วยค่ะ

โดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายของคนเรานั้นลอยน้ำได้ถ้าในปอดมีอากาศ แต่เหตุที่คนจมน้ำก็เพราะความตื่นตระหนกตกใจกลัวจะจมน้ำตาย จึงพยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอด ตะเกียกตะกายดันตัวเองให้ลอยอยู่ที่ผิวน้ำเพื่อที่จะหายใจ ซึ่งกลับเป็นการเร่งให้จมน้ำเร็วขึ้น เพราะไม่นานก็จะหมดแรง และยิ่งส่วนของร่างกายโผล่พ้นน้ำขึ้นมามากเท่าไร ก็จะยิ่งมีน้ำหนักกดลงให้จมน้ำมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

วิธีการเอาตัวรอดจากการจมน้ำที่ถูกต้อง ก็คือการลอยตัวอยู่นิ่งๆ พยายามลอยอยู่ที่ผิวน้ำโดยใช้กำลังให้น้อยที่สุด จะได้ไม่เหนื่อย ไม่หมดแรง เมื่อหายใจเอาอากาศเข้าไปในปอด ปอดก็จะเป็นเสมือนชูชีพพยุงเราไว้ไม่ให้จมน้ำ

ทุกคนสามารถลอยตัวในน้ำได้ เพราะความหนาแน่นของร่างกายมีน้อยกว่าน้ำ การที่บางคนไม่สามารถลอยตัวได้ ก็เป็นเพราะมีการเกร็งส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย สำหรับบางคนอาจมีกระดูกและกล้ามเนื้อใหญ่ มีน้ำหนักมาก ทำให้ลอยตัวลำบากกว่าปกติ ช่วงขาอาจจะจมน้ำ แต่ให้ช่วงอกลอยไว้ก็แล้วกัน

การลอยตัวมี 2 แบบ คือจะนอนหงายให้ปากและจมูกโผล่พ้นน้ำเพื่อหายใจก็ได้ หรือนอนคว่ำลำตัวลอยปริ่มน้ำและเงยหน้าขึ้นมาหายใจก็ได้ การลอยหงายจะเก็บแรงได้มากกว่า บางคนอาจลอยได้ทั้งวัน แต่หากมีคลื่นลมแรงอาจต้องเปลี่ยนเป็นลอยคว่ำ ซึ่งจะปลอดภัยกว่า

กรณีที่ตัวเราเองเป็นผู้ประสบภัยทางน้ำ ไม่สามารถว่ายน้ำเข้าฝั่งได้ ในขณะที่รอความช่วยเหลืออยู่นั้น ประการแรกควรตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก พยายามปลดเปลื้องเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่หนาหนักออกไป เพราะจะพาให้เราจมน้ำเร็วยิ่งขึ้น

อยู่ในท่านอนหงาย ให้ใบหน้าพ้นน้ำไว้ ปล่อยตัวตามธรรมชาติ ที่สำคัญคืออย่าเกร็งตัว หายใจเอาอากาศเข้าปอด ถีบขาคล้ายๆ ท่ากบ และใช้มือพุ้ยน้ำเบาๆ จะช่วยให้ลอยตัวอยู่ในน้ำและเคลื่อนที่ไปได้

อีกวิธีหนึ่งคือการลอยตัวอยู่กับที่ โดยใช้แขนกดลงน้ำแล้วกวาดออก ดึงแขนกลับมาแล้วกดลงน้ำซ้ำอีก ลักษณะคล้ายๆ วาดเลขแปดในน้ำ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ถีบขาเบาๆ คล้ายท่ากบ ไม่ต้องพับเข่าเข้ามามากนัก พยายามให้ศีรษะอยู่พ้นน้ำไว้ ท่านี้จะสามารถใช้มือโบกขอความช่วยเหลือได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้น ซึ่งหากตกอยู่ในสถานการณ์จริงอาจจะทำได้ยาก การที่จะทำความเข้าใจหรือปฏิบัติได้จริงดังที่กล่าวมา ควรจะได้รับการฝึกสอน แต่การเรียนการสอนว่ายน้ำในบ้านเราส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ทักษะการว่ายน้ำ 4 ท่ามาตรฐาน ทำให้เราเข้าใจผิดว่าเราว่ายน้ำเป็นแล้วและไม่จมน้ำแล้ว ทั้งที่จริงควรเรียนรู้ทั้งเรื่องความปลอดภัยทางน้ำ การเอาชีวิตรอดจากอุบัติภัยทางน้ำ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ รวมทั้งการปฐมพยาบาล การกู้ชีพด้วยการผายปอดและนวดหัวใจ
 
สำหรับการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำนั้น ทำได้โดย

- สำรวจบริเวณบ้านและใกล้บ้านว่ามีจุดเสี่ยง เช่น คูหรือรางระบายน้ำ บ่อน้ำ หรือแหล่งน้ำที่น่าจะมีอันตรายอยู่ตรงไหนบ้าง

- หาทางป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ เช่น ทำรั้วรอบสระว่ายน้ำหรือแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเข้าไปเล่นคนเดียว

- อย่าปล่อยให้เด็กว่ายน้ำหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง หากมีสระน้ำอยู่ใกล้ๆ แล้วเด็กหายไป ให้รีบไปดูที่สระน้ำก่อน

- อย่าปล่อยให้เด็กเล็กเล่นน้ำในอ่างคนเดียวแม้เพียงชั่วครู่ก็ตาม เด็กเล็กๆ สามารถจมน้ำในอ่างได้แม้น้ำจะมีความสูงแค่ไม่กี่นิ้ว เพียงแค่จุ่มหัวหรือคว่ำหน้าลงไปในน้ำเท่านั้น ก็จมน้ำเสียชีวิตได้แล้ว

- แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรเล่นน้ำตามลำพังหรือดำน้ำลึกๆ ในที่ที่ไม่คุ้นเคย และไม่ควรเล่นน้ำในที่ลึกๆ หากร่างกายไม่สมบูรณ์หรือเป็นตะคริวง่าย

- หากเป็นโรคลมชัก ควรระมัดระวังหากอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และไม่ควรลงเล่นน้ำ

- ไม่ควรเล่นน้ำในระยะเวลา 1 ชั่วโมงหลังจากเพิ่งรับประทานอาหาร

- อย่าดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระหว่างว่ายน้ำหรืออยู่บนเรือ และไม่ควรเล่นน้ำเมื่อรู้สึกมึนเมา แม้จะมีอาการเพียงเล็กน้อย

- หากจะว่ายข้ามแม่น้ำหรือว่ายไปยังเรือที่จอดอยู่ ให้ระมัดระวังให้มาก เพราะเรือที่จอดหรือฝั่งตรงข้าม จะอยู่ไกลกว่าที่คิดหรือที่มองเห็น โดยเฉพาะในน้ำที่ค่อนข้างเย็น จะทำให้เหนื่อยง่ายขึ้น

- หากเล่นน้ำในทะเล ควรว่ายขนานไปกับฝั่งจะปลอดภัยกว่าว่ายออกจากฝั่ง ขณะว่ายก็ควรมองฝั่งเป็นครั้งคราว เพราะอาจถูกกระแสน้ำพัดออกนอกฝั่งได้ หากจะว่ายน้ำออกจากฝั่ง ควรมีเพื่อนไปด้วย หรือมีเรือตามไปด้วย

- เมื่อเดินทางทางน้ำ รอให้เรือจอดเทียบท่าให้เรียบร้อย จึงค่อยก้าวขึ้น-ลง

- มองหาชูชีพทุกครั้งเมื่ออยู่บนเรือและเรียนรู้วิธีการใช้ สำหรับเด็กเล็กควรใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเรือ

- อ่านกฎระเบียบของสถานที่ท่องเที่ยว และปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด

- และอย่าลืมหัดว่ายน้ำ

ที่มา : http://www.manager.co.th/
update : 20/04/2011
การช่วยเหลือคนตกน้ำ และวิธีปฐมพยาบาล / เอมอร คชเสนี


 

อุบัติเหตุทางน้ำเกิดขึ้นได้ง่ายในบ้านเรา เพราะมีวิถีชีวิตคุ้นเคยอยู่กับแม่น้ำลำคลอง การเรียนรู้วิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำหรือจมน้ำจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจึงจะช่วยคนตกน้ำได้ทันเวลา ยิ่งช่วยขึ้นมาจากน้ำได้เร็วเท่าไร โอกาสที่จะรอดชีวิตก็มีมากขึ้นเท่านั้น

แต่การช่วยคนตกน้ำนั้นต้องช่วยเหลือด้วยวิธีการที่ถูกต้อง หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นต้องมีสติ อย่าผลีผลาม เพื่อไม่ให้คนช่วยถูกดึงจมน้ำไปด้วยอีกคน เพราะความตกใจของคนที่กำลังจะจมน้ำ จะพยายามไขว่คว้าทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ใกล้ตัว หากผู้ที่เข้าไปช่วยว่ายน้ำไม่แข็งและไม่รู้วิธี ก็จะจมน้ำไปด้วย

การพูดให้คนที่ตกน้ำมีสติ บอกเขาว่าเรากำลังจะช่วย จะช่วยคลายความตื่นตระหนก ทำให้การช่วยเหลือทำได้ง่ายและปลอดภัยยิ่งขึ้น บอกให้เขาพยายามช่วยเหลือตนเองด้วย โดยปลดเครื่องแต่งกายหรือเครื่องประดับที่มีน้ำหนักมากหรือเป็นอุปสรรคในการลอยตัวออกไป และพยายามพยุงตัวไว้

การช่วยเหลือคนตกน้ำอย่างถูกต้องมีหลายวิธี ได้แก่

วิธีนี้ผู้ช่วยเหลือและคนที่ตกน้ำจะต้องอยู่ไม่ไกลกัน สามารถยื่นอุปกรณ์ให้เขาจับ เช่น เสื้อ กางเกง ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดตัว เข็มขัด กระเป๋าสะพาย ท่อนไม้ หรือสิ่งของใกล้ตัวอื่นๆ ถ้าหาอะไรไม่ได้ก็ใช้มือหรือขาของคุณแทนก็ได้ แต่ต้องระวังอย่าให้เขาดึงคุณตกน้ำไปด้วยอีกคน ควรหาหลักยึดหรือใช้มืออีกข้างเหนี่ยวฝั่งไว้ให้มั่นคง หรือจับมือกับคนอื่นเพื่อเพิ่มระยะให้คุณเอื้อมลงไปถึงคนที่ตกน้ำ

หากไม่สามารถหาวัตถุที่ยาวพอได้ หรือหากผู้ที่ตกน้ำอยู่ไกลจนเอื้อมไม่ถึง ตัวคุณเองก็ว่ายน้ำไม่เป็น วิธีการช่วยเหลือคือโยนของให้เขาเกาะ โดยกะระยะและทิศทางให้ใกล้คนที่ตกน้ำมากที่สุด วัตถุนั้นต้องมีคุณสมบัติเบา ลอยน้ำ แต่แข็งแรงพอที่จะพยุงตัวเขาไว้ได้ เช่น ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์ ถังพลาสติกปิดฝา ขอนไม้ ลูกมะพร้าว ลูกบอล โดยใช้เชือกผูกวัตถุนั้นเอาไว้เพื่อดึงเขากลับเข้าฝั่ง

การช่วยเหลือโดยอยู่บนเรือ

หากคุณอยู่บนเรือหรือมีเรืออยู่แถวนั้น ก็สามารถใช้เรือพายหรือเรือยนต์เข้าไปช่วยได้ หากเป็นเรือเล็กควรดึงผู้ที่ตกน้ำขึ้นมาทางด้านหัวเรือแทนที่จะเป็นกราบเรือ เพื่อไม่ให้เรือพลิกคว่ำ การดึงขึ้นทางหัวเรือที่มีความสูงมากกว่ากราบเรือนั้น ให้นอนราบลงแล้วใช้เท้าขัดกับที่นั่งเอาไว้ จากนั้นโน้มตัวให้ศีรษะและไหล่ทาบอยู่บนหัวเรือ จับข้อมือของคนตกน้ำเอาไว้ บอกให้เขาจับข้อมือของคุณเอาไว้ด้วยเช่นกัน แล้วออกแรงดึงเขาขึ้นมา แต่การช่วยเหลือแบบนี้ไม่เหมาะกับในทะเลที่มีคลื่นลมแรง เพราะอาจพลัดตกน้ำไปด้วยกัน

การช่วยเหลือจากบนบกด้วยการโยนอุปกรณ์


การช่วยเหลือโดยผู้ช่วยเหลือต้องลงไปในน้ำ

กรณีที่น้ำตื้นยืนถึง แต่คนที่ตกน้ำเป็นเด็กหรือตัวเตี้ยเท้าหยั่งไม่ถึง ผู้ช่วยเหลือสามารถลุยน้ำออกไปช่วยได้ ควรถอดเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่เป็นตัวถ่วงออกก่อน หรืออาจใช้คนหลายคนเกี่ยวแขนต่อกัน แล้วเอื้อมมือไปดึงคนตกน้ำขึ้นมา

กรณีที่น้ำลึก และคนที่ตกน้ำอยู่ไกล วิธีการช่วยเหลือก็คือ ว่ายน้ำออกไปและใช้วัตถุที่ลอยน้ำได้เป็นตัวช่วย เช่น ห่วงยาง ยางในรถยนต์ ถังน้ำมันเก่า ขอนไม้ เมื่อว่ายน้ำเข้าไปจวนจะถึงตัวคนที่ตกน้ำ ให้หยุดอยู่ห่างๆ แล้วยื่นหรือโยนอุปกรณ์ให้เขาเกาะ แล้วจึงไปลากเขาเข้ามา

วิธีนี้ให้ใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย และต้องระมัดระวังอย่างมาก ผู้ช่วยเหลือจะต้องว่ายน้ำแข็ง ร่างกายแข็งแรง และมีประสบการณ์หรือผ่านการอบรมวิธีช่วยเหลือคนตกน้ำหรือจมน้ำมาแล้ว เพราะคนที่ตกน้ำจะตกใจกลัว เมื่อมีอะไรที่จะทำให้รอดชีวิตก็จะเกาะแน่นไม่ยอมปล่อย หลายครั้งที่ผู้ช่วยเหลือต้องเสียชีวิตเพราะถูกกดจมน้ำไปด้วยกัน

การช่วยเหลือต้องเข้าทางด้านหลังของคนที่ตกน้ำเสมอ หากเขาโผเข้ามาจะกอดเรา ให้ดำน้ำหนีก่อน และเพื่อความปลอดภัยควรมีคนอื่นอยู่แถวนั้นด้วย จะได้ช่วยคุณอีกแรงหากเกิดเหตุสุดวิสัยขึ้น หากผู้ที่จมน้ำว่ายน้ำเป็น แต่แค่หมดแรงหรือเป็นตะคริว และไม่ตื่นตกใจ การช่วยเหลือจะทำได้ง่ายและไม่ค่อยมีอันตราย

ส่วนการช่วยคนจมน้ำที่ตื่นตระหนกตกใจ จะต้องใช้ท่ากอดไขว้หน้าอก (Cross Chest) โดยผู้ช่วยเหลือเข้าทางด้านหลังของผู้จมน้ำ เอารักแร้เราหนีบบนบ่าเขา แขนพาดผ่านหน้าอกไปจับซอกรักแร้อีกด้าน อีกวิธีคือใช้มือข้างหนึ่งจับผมของผู้จมน้ำไว้ให้แน่น แล้วว่ายน้ำด้วยท่า Side Stroke คือใช้มืออีกข้างพุ้ยน้ำ และถีบเท้าทั้งสองเพื่อให้ลอยตัวและเคลื่อนที่ไป ซึ่งเป็นท่าที่เหนื่อย หนักแรง และมีอันตรายมาก หากผู้จมน้ำหมดสติ ต้องประคองใบหน้าให้ปากและจมูกพ้นน้ำ เพื่อให้หายใจได้ อีกวิธีคือผู้ช่วยเหลือเข้าทางด้านหลังของผู้จมน้ำ ใช้มือทั้งสองข้างจับขากรรไกรของเขา โดยให้ใบหน้าของเขาลอยเหนือผิวน้ำ แล้วใช้เท้าถีบเพื่อลอยตัวและเคลื่อนที่ไป

หากจมน้ำเนื่องจากการกระโดดน้ำหรือเล่นกระดานโต้คลื่น อาจมีกระดูกหัก ให้เคลื่อนย้ายผู้จมน้ำด้วยความระมัดระวัง โดยเมื่อนำผู้จมน้ำมาถึงบริเวณน้ำตื้นพอที่ผู้ช่วยเหลือจะยืนได้สะดวกแล้ว ให้ใช้ไม้กระดานสอดใต้น้ำรองรับตัวผู้จมน้ำ แล้วใช้ผ้ารัดตัวให้ติดกับไม้ไว้

สิ่งสำคัญอีกประการที่ผู้ช่วยเหลือจะต้องมีความรู้ ก็คือการปฐมพยาบาลคนจมน้ำก่อนนำส่งแพทย์ โดยหากหยุดหายใจ คลำชีพจรไม่ได้ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้ทำการกู้ชีพทันที โดยการนวดหัวใจสลับกับการเป่าปาก จัดท่าให้คนจมน้ำนอนศีรษะต่ำ ปลายเท้าสูงเล็กน้อย

การเอาน้ำออกจากปอดและกระเพาะโดยแบกร่างคนจมน้ำพาดบ่าแล้วเขย่าหรือวิ่งไปนั้น ไม่ช่วยให้ดีขึ้น เสียเวลา ไม่ทันการณ์ และไม่ได้ผล หากเป็นไปได้ควรลงมือกู้ชีพตั้งแต่ก่อนขึ้นฝั่ง เช่น พาขึ้นบนเรือ หรือพาเข้าที่ตื้นๆ หากรู้สึกว่าลมเข้าปอดได้ไม่เต็มที่เนื่องจากมีน้ำอยู่เต็มท้อง ให้จับผู้ป่วยนอนคว่ำ ใช้มือทั้งสองข้างสอดใต้ท้องผู้ป่วย แล้วยกขึ้นและลง หรือจัดท่าให้นอนตะแคง แล้วกดท้องดันมาทางยอดอก วิธีนี้จะช่วยไล่น้ำให้ไหลออกมาได้ แต่ก็ไม่ควรเสียเวลามากนัก จากนั้นจับผู้ป่วยพลิกหงายและกู้ชีพต่อไป

หากผู้ป่วยยังหายใจเองได้ หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง เชยคางให้ศีรษะเงยขึ้นเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมตัวผู้ป่วยเพื่อให้ความอบอุ่นป้องกันอาการช็อค อย่าให้รับประทานอาหารและดื่มน้ำ จากนั้นนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลไม่ว่าจะมีอาการมากน้อยเพียงใด ในรายที่หมดสติและหยุดหายใจ ให้กู้ชีพไปตลอดทาง อย่าหยุดให้การช่วยเหลือ


ที่มา : www.manager.co.th
update : 20/04/2011                                     

วันอังคารที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2554

ความปลอดภัยบนท้องถนน ทำอย่างไร? ไม่ใช่แค่เทศกาล

ความปลอดภัยบนท้องถนน ทำอย่างไร? ไม่ใช่แค่เทศกาล

“สงกรานต์” เทศกาลวันปีใหม่ไทย เวียนกลับมาอีกครั้งในทุกๆ ปี และเช่นเดียวกันมีสิ่งที่กลายเป็นเงาติดตามช่วงเทศกาลไปเสียแล้ว นั่นคือ… การรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนนของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นมกราคมวันขึ้นปีใหม่ฝรั่ง หรือของไทยงานสงกรานต์เดือนเมษายน เพราะในช่วงเทศกาลมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบนท้องถนน ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ถือว่าร้ายแรงกว่าภัยพิบัติต่างๆ เสียอีก เช่น อุบัติเหตุสงกรานต์เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิต 361 ราย และบาดเจ็บถึง 3,802 ราย ดังนั้นเมื่อถึงช่วงงานสงกรานต์ หรือเทศกาลปีใหม่เวียนกลับมาในแต่ละปี ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงพากันโหมประโคมรณรงค์ลดอุบัติเหตุเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน จนกลายเป็นประเพณีไปแล้ว ทั้งที่อุบัติเหตุบนท้องถนนเกิดขึ้นแทบทุกวัน และสถิติอยู่ในระดับสูงมากเช่นกัน

 ฉะนั้น การรณรงค์หรือป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน ประชาชน หรือองค์กรใดๆ ก็ตาม ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญตลอดเวลา โดยทำอย่างไร?... ที่จะเกิดความปลอดภัยบนท้องถนนทุกวัน ไม่ใช่เฉพาะแค่ช่วงงานเทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์เท่านั้น!

“ปัจจุบันไทยมีอุบัติเหตุบนท้องถนนมากถึงปีละ 1.2 หมื่นรายต่อปี เฉลี่ยวันละ 30 ราย หรือคิดเป็น 17.39 รายต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งหากเทียบกับมาตรฐานโลกถือว่าสูงมาก เพราะอย่างญี่ปุ่นหรือประเทศพัฒนาแล้ว และแม้แต่ในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ เขามีอัตราตัวเลขหลักเดียวเท่านั้น”


“เมื่อ 4 ปีก่อน องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประเมินความปลอดภัยบนท้องถนนของไทย ปรากฏว่าไทยสอบตกหมดทุกหมวด และมีความปลอดภัยบนท้องถนนอยู่อันดับที่ 106 จากการประเมินทั้งหมด 178 ประเทศทั่วโลก”

จากการประเมินของ WHO นับว่าไทยอยู่ในสภาวะที่มีความปลอดภัยบนท้องถนนน้อยอย่างยิ่ง โดยชยันต์ได้ให้รายละเอียดแต่ละหัวข้อในการประเมินว่า อันดับแรกเรื่องการ “ขับรถเร็ว” คะแนนเต็ม 10 WHO ให้ประเทศไทยได้แค่ 2 คะแนน นั่นหมายความว่าคนไทยขับรถเร็วอย่างยิ่ง ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเขาจะเรียนและทำความเข้าใจหลักกลศาสตร์ว่า ความเร็วขนาดไหนถึงจะปลอดภัย อย่างความเร็ว 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันจะมีแรงขนาดไหนและควรจะเบรกระยะเท่าไหร่ โดยมีการเรียนและได้รับการทำความเข้าใจมาตั้งแต่ชั้นประถมเลย

ต่อมาเป็นเรื่อง “เมาแล้วขับ” ไทยได้ 5 คะแนน แต่ดูจากสถิติปัจจุบันจริงๆ และหากกรมป้องกันภัยฯ ประเมินจะให้ตัวเลขต่ำกว่านี้มาก เพราะเมาแล้วขับเป็นสาเหตุหลักอีกอย่าง ที่ทำให้เกิดอุบัติบนท้องถนนของไทย ส่วนเรื่องหมวกนิรภัยได้ 4 คะแนน คาดเข็มขัดนิรภัยประเทศไทยได้ 5 คะแนน

“ยิ่งกว่านั้นไทยได้ 0 คะแนน ในเรื่องที่นั่งนิรภัยเด็ก ซึ่งในประเทศไทยไม่ได้มีหรือให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เลย แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เขาเขียนเป็นกฎหมายบังคับออกมาเลย รวมถึงคนนั่งตอนหลังต้องคาดเข็มขัดนิรภัยด้วย”

อย่างไรก็ตาม ชยันต์บอกว่าประเทศไทยเห็นปัญหาเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน และถูกยกให้เป็นวาระสำคัญระดับชาติมาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน เพราะเมื่อปี 2546 - 22548 มีสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงสุด 1.4 หมื่นรายต่อปี และเมื่อดำเนินการรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุมาต่อเนื่อง จนถึงแผนแม่บทปัจจุบัน 2552-2555 ลดลงเหลือ 1.2 หมื่นรายต่อปี หรือ 17.39 รายต่อประชาการ 1 แสนคน แต่นั่นยังไม่บรรลุเป้าหมายตามแผนที่จะต้องลดให้ได้ 14.15 ราย

“ล่าสุดมติคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนของปีที่ผ่านมา ได้วางเป้าหมายลดอุบัติเหตุต่ำกว่า 10 คนต่อประชากร 1 แสนคัน โดยให้นำความเห็นของกระทรวงเทคโนโลยีฯ, คมนาคม, สาธารณสุข และสภาพัฒน์ไปพิจารณาดำเนินการ โดยเน้นให้มีการใช้รถสาธารณะมากขึ้น”

แม้จะพยายามให้เพิ่มการใช้รถสาธารณะมากขึ้น แต่อย่างที่รู้กันรถสาธารณะของไทย ยังมีปัญหาเรื่องระบบและความปลอดภัยบนทองถนนเช่นเดียวกัน มติครม. จึงให้มีการควบคุมดูแลรถสาธารณะด้วย โดยพิจารณาให้ติดตั้งระบบนำทาง GPS และให้คนขับรถสาธารณะทางไกลรายงานตัว โดยสแกนนิ้วมือ เพื่อควบคุมคนและการขับรถ

นอกจากนี้ สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน มาจากการเรื่องการใช้รถ และมากกว่า 70% มาจากรถจักรยานยนต์ ดังนั้นตามกรอบมติ ครม. ตามข้อเสนอของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เสนอให้พิจารณาลดอัตราสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน โดยเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ในอัตราเหมาะสมตามขนาดเครื่องยนต์(CC) และกำหนดมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ หรือใบขับขี่ จะต้องมีการอบรมเป็นเวลา 15 ชั่วโมงก่อน รวมถึงบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนในสถานศึกษา พร้อมกับเพิ่มสัดส่วนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น

ชยันต์กล่าวว่า ความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นเรื่องระดับโลก เพราะปัจจุบันมีอุบัติเหตุบนท้องถนนปีละ 1.3 ล้านรายในทั่วโลก มากที่สุดจากอุบัติภัยทุกชนิด และคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 1.9-2.0 ล้านรายต่อปี เหตุนี้สหประชาชาติ(UN) จึงเรียกร้องให้ทุกประเทศปฏิบัติป้องกันเพื่อลดเหลือเพียง 9 แสนรายต่อปี

โดยหลักปฏิบัติลดอุบัติเหตุของ UN มีจำนวน 5 ข้อ ได้แก่ สิ่งแรกการบริหารจัดการบนท้องถนน ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายและระเบียบการใช้ถนน ต่อมาเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ที่หมายถึงมาตรฐานถนนและการสัญจร และอีกข้อเป็นมาตรฐานยานพาหนะ คือเทคโนโลยีความปลอดภัยต่างๆ ของยานพาหนะ ข้อต่อมาเป็นพฤติกรรมการขับขี่ของประชาชนที่จะต้องบังคับ รณรงค์ และปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน และสุดท้ายกลไกช่วยเหลือกู้ชีพ หรือกู้ภัยอย่างไร? จึงจะเหมาะสม

“รูโหว่มากที่สุดจะเป็นการบริหารจัดการ โครงสร้างพื้นฐาน และพฤติกรรมของผู้ใช้รถ ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ คือ มนุษย์ ถนนหรือโครงสร้างพื้นฐาน รถยนต์ และระบบบริหารจัดการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎระเบียบ และใบอนุญาตขับขี่ให้เข้มงวด เป็นต้น” ชยันต์กล่าวและว่า

“การผลักดันเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน จะต้องดำเนินงาน 2 ส่วน คือ สร้างจิตสำนึกของคน เพื่อให้ตระหนักถึงความปลอดภัย (Safety Culture) ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น อย่างคนญี่ปุ่นเขาจะระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุมาก อะไรที่เป็นอันตรายเขาจะไม่ทำหรือเข้าใกล้ และอีกส่วนเป็นเรื่องระบบหรือเทคโนโลยี ที่จะรองรับความผิดพลาดต่างๆ ของมนุษย์”

จากการประเมินของ WHO หรือหลักปฏิบัติของสหประชาชาติ ล้วนสะท้อนให้เห็นว่าสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน มาจากการกระทำหรือพฤติกรรมของมนุษย์เป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับประสบการณ์ของผู้ที่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยบนท้องถนน ไม่ว่าจะเป็นการบังคับใช้กฎหมายและดูแลคดี อย่าง “พ.ต.อ.ขิง แขวงวิเศษชัยชาญ” รองผู้บังคับการตำรวจจราจร (รอง บก.จร.) ได้สรุปสาเหตุของอุบัติเหตุบนท้องถนนว่า...

อันดับแรกมาจากความประมาท และขาดวินัย ทั้งในเรื่องของการขับรถเร็ว เมาแล้วขับ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และไม่สวมหมวกกันน็อก สองผู้ใช้รถไร้ทักษะ แม้จะมีขับได้มีใบขับขี่ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าขับรถเป็น คือขับรถเห็นแต่ข้างหน้า ไม่เห็นด้านข้างหรือหลัง นึกจะออกก็ออก จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุแก่ตนเองและผู้อื่น

ประการต่อมา ไร้สมรรถนะ ไม่ว่าจะเป็นสภาพรถยนต์ที่ยางโล้นไม่เกาะถนน เบรกไม่ดี หรือรถเสียศูนย์ รวมสภาพของผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับ อารมณ์หงุดหงิดก็ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงพวกที่กินยาและง่วงก็ยังดันทุรังขับอยู่ และอีกปัญหาของอุบัติเหตุ “ไม่รู้จักความเครียดของรถ” คือไม่รู้ว่ารถเข้าโค้งได้เท่าไหร่ หากเกินรถมันก็ต้องเครียดหลุดโค้ง เป็นต้น

“สิ่งเหล่านี้เราจะต้องพร้อมอย่าประมาท ผมเห็นเด็กอนุบาลร้องไห้ไม่ยอมซ้อนท้ายรถพ่อ เพราะไม่มีหมวกนิรภัย เห็นแล้วรู้สึกภูมิใจแทนอนาคตของชาติ แต่ผู้ใหญ่กลับไม่มีสำนึก แล้วยังจะมาเป็นฆาตกรบนท้องถนนอีก”

เป็นการสรุปจากประสบการณ์ของ พ.ต.ท.ขิง และยังฝากบอกว่า จะให้ภาครัฐดำเนินการอย่างเดียวย่อมไม่ได้ผล ต้องได้รับความร่วมมือกันทั้งจากประชาชน ภาคเอกชน ภาครัฐ รวมถึงสื่อมวลชน ถึงจะสร้างความปลอดภัยบนท้องถนนได้

และแน่นอนไม่ใช่เพียงลดการสูญเสียชีวิต การทุพพลภาพ และทรัพย์สินเท่านั้น เพราะจากสถิติผู้สูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน 1 ใน 3 เป็นกำลังหลักของครอบครัว และที่สำคัญอุบัติเหตุสูงสุด 70% มาจากรถจักรยานยนต์ ที่ล้วนเป็นวัยรุ่นและเยาวชน

ทั้งหมดล้วนเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาและสร้างชาติทั้งนั้น!!


ที่มา : www.manager.co.th
update : 12/04/11