วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สื่อการเรียนรู้ สำหรับห้องเรียนแห่งอนาคต

สื่อการเรียนรู้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเข้าใจเนื้อหาของบทเรียนตรงกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน เป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรงที่เป็นรูปธรรม
ในการจัดการเรียนรู้นั้นครูผู้สอนต้องเป็นครูยุคใหม่ ต้องเลือกสรรและใช้รูปแบบและวิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย หมั่นศึกษาเรียนรู้สื่อใหม่ ๆ เพื่อนำมาใช้กระตุ้นให้ผู้เรียนได้ศึกษาหาความรู้อย่างกว้างขวางและทันสมัย รู้จักคิดอย่างมีเหตุผล สามารถแก้ไขปัญหาและมีทักษะในเชิงปฏิบัติ มีการสร้างแรงจูงใจ สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างกระตือรือร้น และกระตุ้นให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในเชิงสร้างสรรค์  ซึ่งหลายคนทราบดีว่าธรรมชาติของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กปฐมวัยหรือประถมศึกษานั้นชอบ “เล่น” การจัดการเรียนรู้จึงต้องสอดคล้องกับความต้องการและวัยของผู้เรียน เมื่อเด็กชอบเล่นครูควรใช้ “การเล่น” มาเป็นสื่อในการถ่ายทอดความรู้ โดยครูต้องมีวัสดุอุปกรณ์ และจัดกิจกรรมให้เด็กได้มีส่วนร่วม เพื่อสร้างจิตนาการและความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ สื่อที่ใช้ต้องสามารถเป็นตัวกระตุ้นความสนใจของเด็กในเรื่องที่จะเรียน   เมื่อเด็กเกิดความสนใจก็จะเกิดความพยายามเรียนรู้เรื่องนั้น ๆ แล้ว การให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยการร่วมกิจกรรมและลงมือปฏิบัติถือเป็นวิธีการที่ดีที่จะช่วยให้เด็กเกิดความรู้ติดตัวที่คงทนและยั่งยืน
 
โดยจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด พบว่า กิจกรรมการจัดการเรียนรู้ที่ต่างกันทำให้จดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ต่างกันด้วย คือ การเรียนในห้องเรียน นั่งฟังบรรยาย จะจำได้เพียง 5% การอ่านด้วยตัวเอง จะจำได้เพิ่มขึ้นเป็น 10% การฟังและได้เห็น เช่น การดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ จำได้ 20% การได้เห็นตัวอย่าง จะช่วยให้จำได้ 30% การได้แลกเปลี่ยนพูดคุยกัน เช่น การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันในกลุ่ม จะช่วยให้จำได้ถึง 50% การได้ทดลองปฏิบัติเอง จะจำได้ถึง 75% การได้สอนผู้อื่น เช่น การติวหรือการสอน จะช่วยให้จำได้ถึง 90% ดังนั้นครูผู้สอนจึงต้องพิจารณาเลือกใช้กิจกรรมที่เหมาะสม

แม้กระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกหลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับการปรับการเรียนการสอน มีการวางแผนยุทธศาสตร์ห้องเรียนแห่งอนาคตในทศวรรษที่ 21  ซึ่งเป็นระบบห้องเรียนอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถจัดการเรียนรู้ด้วยระบบสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้ได้ทั่วโลกผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ที่มีการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีการสื่อสารและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาให้สูงขึ้น  ลักษณะของห้องเรียนแห่งอนาคตนั้นจะมีการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในการพัฒนาการศึกษา มีการจัดแหล่งเรียนรู้โดยใช้ระบบสื่อเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็นระบบ E-Classroom, E-Learning, E-Library,E-office, E-Student, E-Service เป็นต้น หรืออาจใช้ระบบเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) มาสนับสนุนการเรียนรู้และการบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้ก้าวทันสังคมในยุคข้อมูลข่าวสาร  สำหรับประเทศไทยนั้นมีสถานศึกษาเพียงบางแห่งที่มีความพร้อมสูงมีการจัดห้องเรียน ในลักษณะของห้องเรียนที่มีการใช้สื่อเทคโนโลยีเข้ามาบูรณาการในการจัดการเรียนการสอน
ปัจจุบันแท็บเล็ต (Tablet PC) เป็นสื่อที่กำลังมาแรงและเป็นที่นิยมอย่างมาก เนื่องมาจากคุณประโยชน์อันหลากหลายและรูปแบบที่ทันสมัย พกพาได้สะดวกสบาย ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น ใช้ต่ออินเทอร์เน็ตได้ ถ่ายรูปได้

เป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ ตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Book ซึ่งขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งานเป็นสำคัญ   ในสังคมการศึกษาไทยรัฐบาลชุดปัจจุบันมีนโยบายแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตามโครงการ One Tablet PC Per Child ซึ่งเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้ ถือเป็นการสร้างมิติใหม่ของการศึกษาไทยในการเข้าถึงการปรับใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาในยุคปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่สอง 


จากกระแสการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีผลการสำรวจ “ความคิดเห็นของชาวอีสานกับนโยบายการแจก Tablet PC แก่เด็กนักเรียน ชั้น ป.1 ของรัฐบาล” ของอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ เช่น ชาวอีสานส่วนใหญ่คิดว่าการนำ Tablet PC มาให้นักเรียน ป.1 ใช้จะไม่ช่วยทำให้คุณภาพการศึกษาของไทยดีขึ้น ยังเป็นห่วงว่าบทบาทของครูจะลดลง เห็นว่าควรแจก Tablet PC ให้กับเด็กโตมากกว่าเด็กเล็ก เด็กจะไม่ได้ใช้ Tablet PC เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาเป็นหลัก แต่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น เล่นเกม เล่นอินเทอร์เน็ต และยังกังวลว่า เด็ก ป.1 จะยังไม่สามารถดูแลรักษาสิ่งของอย่าง Tablet PC ได้  อาจเกิดปัญหาการพังเสียหาย การทำสูญหาย หรือแม้แต่อาชญากรรมการลักขโมย เป็นต้น ซึ่งการแจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 บ้างก็เห็นด้วยว่าเป็นสิ่งดี
เพราะเทคโนโลยีนั้นมีศักยภาพทางบวกอยู่มาก ที่จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจใฝ่เรียนรู้ให้กับผู้เรียน เป็นการเปิดโลกกว้างแห่งการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ช่วยให้เด็กไทยก้าวสู่โลกสมัยใหม่และค้นคว้าข้อมูลได้อย่างกว้างขวางรวดเร็ว  รวมถึงยังสนับสนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่จำกัดการเรียนรู้ของเด็กอยู่เฉพาะในห้องเรียนแบบเดิม ๆ


อย่างไรก็ตามการมองต่างมุมของหลายฝ่าย ก็มีความเป็นห่วงว่าสื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัยนั้นอาจจะเป็นดาบ 2 คมที่มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นผู้รับผิดชอบคงต้องพิจารณาเพื่อหาทางป้องกันอย่างรอบคอบ แม้วงการศึกษาจำเป็นต้องมีการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนให้เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทใหม่ของการเปลี่ยนแปลง  แต่ก็ยังปรารถนาที่จะเห็นห้องเรียนแห่งอนาคตเกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่งอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม.     

        
บทความ:ฟาฏินา วงศ์เลขา
ที่มา :เดลินิวส์ 
update:1พฤษภาคม55