วันศุกร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อันตรายจากนมวัว

                                               
อันตรายจากนมวัว

สัตว์ทั่วไปดื่มนมจากแม่ตั้งแต่ยังเป็นทารก พออายุมากขึ้นหน่อยก็จะเลิกดูดนมและกินอาหารอย่างอื่นแทน แต่มนุษย์น่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตในโลกที่ดื่มนมตั้งแต่แรกทารกและยังมีสมองที่จะสามารถไปรีดนมจากสัตว์ชนิดอื่นมาเก็บสะสมเอาไว้ดื่มกินแม้จะโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ตาม

ความจริงแล้วนมวัวก็น่าที่จะเหมาะกับวัวมากที่สุด นมคนก็น่าจะเหมาะกับคนเช่นเดียวกัน คนจะมีน้ำหนักเพิ่ม 3 กิโลกรัมโดยเฉลี่ย ในเวลา 3 เดือนหลังคลอดด้วยการดื่มนมจากแม่อย่างเดียว แต่ลูกวัวนั้นน้ำหนักจะเพิ่ม 30 กิโลกรัมในเวลาเท่ากัน และวัวเมื่อโตเต็มที่จะมีน้ำหนักรวม 500 กิโลกรัมขึ้นไป ในขณะที่คนจะมีน้ำหนักประมาณ 50-60 กิโลกรัม

แต่ลูกคนกินนมวัวมากกว่าลูกวัวเสียอีก ลูกวัวดื่มนมจากแม่วัวแค่ 1 ปี แต่ลูกคนรับประทานนมวัวต่อเนื่องเป็นสิบ ๆ ปี ฉะนั้นฮอร์โมนสำหรับการเจริญเติบโต (Growth Hormone) ของวัวจะกระตุ้นการเจริญเติบโตของเด็กอย่างต่อเนื่อง ทำให้ร่างกายสูงใหญ่ผิดไปจากเผ่าพันธุ์เดิม

เพราะการถูกครอบทางวัฒนธรรมและแฟชั่นจากชาติมหาอำนาจทางตะวันตกว่าคนที่เป็นดาราภาพยนตร์ต้องตัวโตสูงใหญ่มีโอกาสในการทำงานมากและจะหารายได้ได้มาก และคนเอเชียตัวเล็กเพราะขาดโปรตีน ต่อมารัฐบาลในหลายประเทศรณรงค์ให้คนเอเชียจำนวนหันมาดื่มนมวัวและมีร่างกายใหญ่โตมากขึ้น จนเราไม่เคยรู้อีกด้านหนึ่งนมวัวว่าเป็นอันตรายอย่างไร แม้แต่ในประเทศไทยก็ส่งเสริมให้เด็กดื่มนมวัวติดต่อกันมาเป็นเวลาหลายปีแล้วจนถึงปัจจุบัน ในขณะเดียวกันการดื่มนมวัวที่มากขึ้นของคนไทย ก็ได้สร้างให้อุตสาหกรรมยาได้ขายยาอีกจำนวนมากให้คนไทยได้กินกัน

ความจริงแล้วคนไทยและคนเอเชียถึงร้อยละ 80 ไม่มีน้ำย่อยแล็กโตสในนม ซึ่งส่วนใหญ่จะแสดงอาการท้องเสีย และอีกส่วนหนึ่งก็คือแพ้เคซีนในนม ซึ่งความจริงแล้วมนุษย์สามารถดูดซึมโปรตีนในนม (Net Protein Utilization) ได้เพียงร้อยละ 82 และดูดซึมไม่ได้อีกร้อยละ 18 จะดูดซึมไม่ได้ จะถูกแบคทีเรียย่อยสลายและทำให้เกิด Immune Complex หรือสารก่อภูมิแพ้ตัวใหม่ ๆ ขึ้น

นายแพทย์ เอส. ซี. ทรูเลิฟ ในวารสาร British Medical Journal ปี 1961 และงานของ ดี.โจเซฟ ซักคา ในวารสาร Annual of allergy พฤษภาคม 1971 ระบุเอาไว้ชัดเจนถึงความสัมพันธ์ของการดื่มนมกับการเกิดลำไส้อักเสบจากภาวะภูมิแพ้  นอกจากนี้ นมวัว เป็นผลิตภัณฑ์จากสัตว์ จึงมีไขมันอิ่มตัวเป็นส่วนประกอบในปริมาณมาก ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไขมันคลอเรสเตอรอลในเลือดสูงและเส้นเลือดหัวใจอุดตัน เราอาจไม่รู้ว่าการดื่มนมวันละ 2 แก้ว เทียบเท่ากับรับคลอเรสเตอรอลจากการรับประทานเบคอน 34 ชิ้น และยังรวมถึงโรคอื่น ๆ อีกมากที่มีความสัมพันธ์กับนมวัว เช่น โรคกระดูกพรุน โรคอัลไซเมอร์ โรคเวียนศีรษะในผู้สูงอายุ โรคปวดหัวไมเกรน ฯลฯ

ตัวอย่างเช่น หลายคนเดิมอาจคิดว่าการดื่มนมวัวมากๆน่าจะเพิ่มแคลเซียมในกระดูก ทำไมถึงเป็นโรคกระดูกพรุนได้ ความจริงมีอยู่ว่าน้ำนมประกอบด้วยแคลเซียมประมาณ 3 ส่วนและฟอสฟอรัส 2 ส่วน หากดื่มนมมากกว่า 500 มิลลิลิตร ร่างกายก็จะได้รับปริมาณฟอสฟอรัสมากเกินจำเป็น ซึ่งจะกระตุ้นต่อมพาราไทรอยด์ให้หลั่งฮอร์โมนออกมาสลายกระดูก จนเป็นเหตุให้มวลหรือเนื้อกระดูกบางลง

นอกจากนี้ Dr. Samuel Epstein จากมหาวิทยาลัยอิลินอยส์ ได้เตือนถึงอันตรายของระดับฮอร์โมนชนิดหนึ่งในนมวัวซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ทำให้เกิดการเจริญเติบโต ชื่อ Insulin like Growth Factor One หรือ IGF-1 ปริมาณสูงในนมจากวัวซึ่งถูกฉีด synthetic bovine growth hormone(rBGH) เขาได้เตือนว่า IGF-1 ในนมวัวเป็นสาเหตุสำคัญให้เกิดมะเร็งเต้านมและมะเร็งทางเดินอาหาร  ยังมีนักวิจัยอีกมากพบว่า IGF-1 มีความสัมพันธ์กับมะเร็งลำไส้ใหญ่ และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยืนยันผลว่า ระดับ IGF-1 ในเลือดเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

ดร.ที คอลลิน แคมพ์เบลล์ เป็นนักโภชนาการของสหรัฐอเมริกา เคยทำงานวิจัยในสถาบันทีมีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสทส์ (MIT), สถาบันเทคโนโลยี เวอร์จีเนีย, มหาวิทยาลัยคอร์เนล และเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสหพันธ์อเมริกันเพื่อการทดลองวิทยา และได้ทำงานวิจัยระดับชาติจีนศึกษา (China Study) ซึ่งเป็นงานร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยคอร์เนล มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด และสถาบันการแพทย์ป้องกันโรคของประเทศจีน ได้เป็นบุคคลหนึ่งที่วิจัยและทดสอบพบว่าเนื้อสัตว์และโปรตีนจากสัตว์มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเรื้อรังหลายชนิดของมนุษย์ 

ซึ่งแม้จะงานวิจัยดังกล่าวจะมีรายละเอียดในการทดสอบและเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มชาวจีนกับชาวอเมริกัน แต่ในที่นี้จะขอไม่กล่าวถึงการวิจัยเรื่องมนุษย์ เพราะผมเห็นว่าน่าจะยังมีตัวแปรอีกมากที่อาจไม่เกี่ยวกับอาหารชนิดเดียวกันโดยตรง เช่น อาหารอื่นๆ อารมณ์ อากาศ วัฒนธรรม การออกกำลังกาย อาการอุปทานหรือยาหลอก ฯลฯ ในที่นี้จึงขอกล่าวอ้างอิงเฉพาะการทดสอบที่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมได้โดยการใช้หนูทดลอง ซึ่งได้ผลน่าสนใจบางประการดังนี้

ดร.ที คอลลิน แคมพ์เบลล์ เดิมเป็นคนที่ส่งเสริมให้คนบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม และไข่มาก ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย แต่ภายหลังต่อมากลายเป็นผู้ที่รณรงค์ให้คนลดการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์และนม โดย ดร.ที คอลลิน แคมเบลล์ ได้พบงานวิจัยของอินเดียซึ่งเป็นจุดประกายสำคัญในการทดลองต่อๆกันมา โดยงานานวิจัยชิ้นนั้นพบว่า

"หนูทดลองทุกตัวซึ่งได้รับสารก่อมะเร็งในถั่วที่ชื่อ อะฟลาทอกซิน พบว่าหากให้โปรตีนจากนมวัว 20% พบว่าหนูทั้งหมดจะกลายเป็นโรคมะเร็งในตับ ในขณะที่หนูกลุ่มที่ได้รับโปรตีนจากนมวัว 5% จะไม่มีตัวไหนเป็นมะเร็งเลย"

ดร.ที คอลลิน แคมพ์เบลล์ จึงได้ทำการทดลองต่อยอดกับหนูทดลองอีกหลายกรณีพบผลการวิจัย สรุปการทดลองบางส่วนพบว่า

1. การบริโภคโปรตีนจากนมวัว (เคซีน)ลดลง จะมีผลทำให้การจับกันระหว่างอะฟลาทอกซินกับดีเอ็นเอลดลง และทำให้มีหลักฐานชี้ชัดว่าการบริโภคโปรตีนจากนมวัวในปริมาณที่ต่ำมีผลทำให้การทำงานของเอนไซม์ลดลงอย่างมาก และป้องกันไม่ให้สารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายจับกับดีเอ็นเอ และเมื่อสัตว์ตัวเดียวกันที่กินโปรตีนจากนมวัวมากแล้วมีรอยโรค (foci) ที่จะก่อให้เกิดเนื้องอกแล้ว ถ้าลดปริมาณลงก็รอยโรคที่จะก่อให้เกิดเนื้องอกก็ลดลงตามไปด้วย แต่ถ้ากลับมาเพิ่มปริมาณการบริโภคโปรตีนจากนมวัวอีกก็รอยโรคที่ก่อให้เกิดเนื้องอกก็จะกลับเพิ่มขึ้นมาอีกเช่นกัน

2. การบริโภคโปรตีนจากพืช ทั้งจากข้าสาลี และถั่วเหลือง แม้จะใส่ปริมาณมากถึง 20% ให้เท่ากับเคซีนในโปรตีนของนมวัว พบว่าไม่เกิดรอยโรค (foci) ที่จะพัฒนากลายเป็นเนื้องอกได้

3. มีการอ้างอิงศูนย์การแพทย์อิลลินอยส์ เมืองชิคาโก ในสหรัฐอเมริกา พบว่าการบริโภคเคซีน (โปรตีนจากนมวัว) ในหนูทดลองเพิ่มขึ้น เป็นการส่งเสริมทำให้เกิดมะเร็งเต้นนมมากขึ้น

โรคต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้นถ้าเกิดกับมนุษย์ก็จะเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ฉะนั้นคนส่วนใหญ่จะไม่ตระหนักและเห็นผลได้ดีด้านเดียวว่านมวัวทำให้ร่างกายมนุษย์ใหญ่โตขึ้น ความจริงแล้วคนไทยสมัยก่อนไม่เคยดื่มนม เพิ่งจะมาเริ่มดื่มกันจริงก็ประมาณ 50-60 ปีมานี้เองที่ฝรั่งมาสอนและรณรงค์ให้ดื่ม และสมัยก่อนชาวสยามก็ได้รับโปรตีนและแคลเซียมจากอาหารอย่างอื่นโดยไม่ต้องดื่มนมวัว แต่เมื่อเริ่มดื่มนมวัวกันมากขึ้นก็ดูเหมือนว่าคนไทยเริ่มเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้น และบริษัทขายยาก็ขายได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว

จากบันทึกของนายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ เรื่อง "หมอฝรั่งในวังสยาม" โดยหมอสมิธเป็นแพทย์ชาวอังกฤษเข้ามารับราชการเป็นหมอหลวงในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เขียนบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

"ชาวสยามไม่ดื่มนมวัวทุกรูปแบบ การเลี้ยงปศุสัตว์ทุกรูปแบบไม่เป็นที่รู้จักกันในเอเชียตะวันออก ชาวจีน ญี่ปุ่น และอันโดจีน ไม่เคยแตะต้องนมเลย ตั้งแต่หย่านม กระนั้นก็ตาม พละกำลังและความแข็งแรงของร่างกายโดยทั่วไป ไม่ได้ด้อยกว่าพวกยุโรป"

คำถามชวนให้คิดต่อมาก็คืออะไรที่ทำให้ชาวสยามในอดีตมีพละกำลังแข็งแรงไม่ได้ด้อยกว่าพวกยุโรป โดยไม่ต้องดื่มนมวัว !

ที่มา   :  www.manager.co.th  อันตรายจากนมวัว โดยพงษ์เทพ  พัวพงษ์พันธุ์
update : 17/11/12

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

  ไทยติดท็อปไฟว์โลก เสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนน

   
       ไทยติดอันดับ 5 ของโลก มีความเสี่ยงสูงเกิดอุบัติเหตุทางถนน รองจาก บราซิล เคนยา อินเดีย และ เขมร พบตายปีละ 12,000 คน บาดเจ็บอีกกว่าล้านคน “เมาไม่ขับ” เตรียมจัดขบวนแห่ดอกไม้จันทน์รำลึกเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน 18 พ.ย.นี้

        นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดเผยว่า ปัญหาอุบัติเหตุจราจรคร่าชีวิตประชากรทั่วโลกมากถึงปีละ 1.3 ล้านคน บาดเจ็บและพิการอีกประมาณปีละ 50 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรวัยหนุ่มสาว อายุระหว่าง 15-29 ปี สำหรับประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยปีละ 12,000 คน บาดเจ็บเฉลี่ยกว่า 1 ล้านคน ติดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก รองจาก บราซิล เคนยา อินเดีย และ กัมพูชา

       นพ.แท้จริง กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนมากขึ้น ซึ่งปีนี้ได้สนับสนุนกิจกรรมร่วมกับองค์การสหประชาชาติอย่างเป็นทางการ

โดยประกาศให้วันอาทิตย์สัปดาห์ที่ 3 เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน” ของประเทศไทย ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 18 พ.ย. เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือเป็นแนวปฏิบัติในการร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น และเพื่อรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียอุบัติเหตุทางถนนของโลก

“สำหรับกิจกรรมวันรำลึกถึงเหยื่อผู้สูญเสียฯ มูลนิธิเมาไม่ขับได้ประสานกับภาคีเครือข่ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุทางถนนต่างๆ จัดขบวนแห่ดอกไม้จันทน์จำนวน 10,172 ดอก  เท่ากับจำนวนผู้เสียชีวิตในรอบปีที่ผ่านมา โดยผู้ร่วมขบวนนำโดยเหยื่อซึ่งเป็นผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนนและบุคคลในครอบครัว รวมไปถึงครอบครัวที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากอุบัติเหตุทางถนน เริ่มจากบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า ผ่านเส้นราชดำเนิน และจะนำดอกไม้จันทน์ไปวางรวมกันที่ด้านหน้าสำนักงานยูเอ็น เพื่อแสดงความอาลัย” นพ.แท้จริง กล่าว

ที่มา : www.manager.co.th
update : 14/11/12