วันพุธที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2554

การเอาตัวรอดจากการจมน้ำและการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ โดย เอมอร คชเสนี


ในตอนที่แล้วได้กล่าวถึงการช่วยเหลือคนตกน้ำ-จมน้ำ ตลอดจนวิธีปฐมพยาบาลกันไปแล้ว แต่หากตัวเรากลายเป็นผู้ประสบภัยเสียเองและว่ายน้ำไม่เป็น เราจะเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำได้อย่างไร วันนี้มาติดตามกันต่อ พร้อมทั้งวิธีการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำด้วยค่ะ

โดยธรรมชาติแล้ว ร่างกายของคนเรานั้นลอยน้ำได้ถ้าในปอดมีอากาศ แต่เหตุที่คนจมน้ำก็เพราะความตื่นตระหนกตกใจกลัวจะจมน้ำตาย จึงพยายามดิ้นรนเอาชีวิตรอด ตะเกียกตะกายดันตัวเองให้ลอยอยู่ที่ผิวน้ำเพื่อที่จะหายใจ ซึ่งกลับเป็นการเร่งให้จมน้ำเร็วขึ้น เพราะไม่นานก็จะหมดแรง และยิ่งส่วนของร่างกายโผล่พ้นน้ำขึ้นมามากเท่าไร ก็จะยิ่งมีน้ำหนักกดลงให้จมน้ำมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

วิธีการเอาตัวรอดจากการจมน้ำที่ถูกต้อง ก็คือการลอยตัวอยู่นิ่งๆ พยายามลอยอยู่ที่ผิวน้ำโดยใช้กำลังให้น้อยที่สุด จะได้ไม่เหนื่อย ไม่หมดแรง เมื่อหายใจเอาอากาศเข้าไปในปอด ปอดก็จะเป็นเสมือนชูชีพพยุงเราไว้ไม่ให้จมน้ำ

ทุกคนสามารถลอยตัวในน้ำได้ เพราะความหนาแน่นของร่างกายมีน้อยกว่าน้ำ การที่บางคนไม่สามารถลอยตัวได้ ก็เป็นเพราะมีการเกร็งส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย สำหรับบางคนอาจมีกระดูกและกล้ามเนื้อใหญ่ มีน้ำหนักมาก ทำให้ลอยตัวลำบากกว่าปกติ ช่วงขาอาจจะจมน้ำ แต่ให้ช่วงอกลอยไว้ก็แล้วกัน

การลอยตัวมี 2 แบบ คือจะนอนหงายให้ปากและจมูกโผล่พ้นน้ำเพื่อหายใจก็ได้ หรือนอนคว่ำลำตัวลอยปริ่มน้ำและเงยหน้าขึ้นมาหายใจก็ได้ การลอยหงายจะเก็บแรงได้มากกว่า บางคนอาจลอยได้ทั้งวัน แต่หากมีคลื่นลมแรงอาจต้องเปลี่ยนเป็นลอยคว่ำ ซึ่งจะปลอดภัยกว่า

กรณีที่ตัวเราเองเป็นผู้ประสบภัยทางน้ำ ไม่สามารถว่ายน้ำเข้าฝั่งได้ ในขณะที่รอความช่วยเหลืออยู่นั้น ประการแรกควรตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก พยายามปลดเปลื้องเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่หนาหนักออกไป เพราะจะพาให้เราจมน้ำเร็วยิ่งขึ้น

อยู่ในท่านอนหงาย ให้ใบหน้าพ้นน้ำไว้ ปล่อยตัวตามธรรมชาติ ที่สำคัญคืออย่าเกร็งตัว หายใจเอาอากาศเข้าปอด ถีบขาคล้ายๆ ท่ากบ และใช้มือพุ้ยน้ำเบาๆ จะช่วยให้ลอยตัวอยู่ในน้ำและเคลื่อนที่ไปได้

อีกวิธีหนึ่งคือการลอยตัวอยู่กับที่ โดยใช้แขนกดลงน้ำแล้วกวาดออก ดึงแขนกลับมาแล้วกดลงน้ำซ้ำอีก ลักษณะคล้ายๆ วาดเลขแปดในน้ำ ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ถีบขาเบาๆ คล้ายท่ากบ ไม่ต้องพับเข่าเข้ามามากนัก พยายามให้ศีรษะอยู่พ้นน้ำไว้ ท่านี้จะสามารถใช้มือโบกขอความช่วยเหลือได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงคำแนะนำเบื้องต้น ซึ่งหากตกอยู่ในสถานการณ์จริงอาจจะทำได้ยาก การที่จะทำความเข้าใจหรือปฏิบัติได้จริงดังที่กล่าวมา ควรจะได้รับการฝึกสอน แต่การเรียนการสอนว่ายน้ำในบ้านเราส่วนใหญ่จะเน้นไปที่ทักษะการว่ายน้ำ 4 ท่ามาตรฐาน ทำให้เราเข้าใจผิดว่าเราว่ายน้ำเป็นแล้วและไม่จมน้ำแล้ว ทั้งที่จริงควรเรียนรู้ทั้งเรื่องความปลอดภัยทางน้ำ การเอาชีวิตรอดจากอุบัติภัยทางน้ำ การช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางน้ำ รวมทั้งการปฐมพยาบาล การกู้ชีพด้วยการผายปอดและนวดหัวใจ
 
สำหรับการป้องกันอุบัติภัยทางน้ำนั้น ทำได้โดย

- สำรวจบริเวณบ้านและใกล้บ้านว่ามีจุดเสี่ยง เช่น คูหรือรางระบายน้ำ บ่อน้ำ หรือแหล่งน้ำที่น่าจะมีอันตรายอยู่ตรงไหนบ้าง

- หาทางป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ เช่น ทำรั้วรอบสระว่ายน้ำหรือแหล่งน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กเข้าไปเล่นคนเดียว

- อย่าปล่อยให้เด็กว่ายน้ำหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง หากมีสระน้ำอยู่ใกล้ๆ แล้วเด็กหายไป ให้รีบไปดูที่สระน้ำก่อน

- อย่าปล่อยให้เด็กเล็กเล่นน้ำในอ่างคนเดียวแม้เพียงชั่วครู่ก็ตาม เด็กเล็กๆ สามารถจมน้ำในอ่างได้แม้น้ำจะมีความสูงแค่ไม่กี่นิ้ว เพียงแค่จุ่มหัวหรือคว่ำหน้าลงไปในน้ำเท่านั้น ก็จมน้ำเสียชีวิตได้แล้ว

- แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ไม่ควรเล่นน้ำตามลำพังหรือดำน้ำลึกๆ ในที่ที่ไม่คุ้นเคย และไม่ควรเล่นน้ำในที่ลึกๆ หากร่างกายไม่สมบูรณ์หรือเป็นตะคริวง่าย

- หากเป็นโรคลมชัก ควรระมัดระวังหากอยู่ใกล้แหล่งน้ำ และไม่ควรลงเล่นน้ำ

- ไม่ควรเล่นน้ำในระยะเวลา 1 ชั่วโมงหลังจากเพิ่งรับประทานอาหาร

- อย่าดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ระหว่างว่ายน้ำหรืออยู่บนเรือ และไม่ควรเล่นน้ำเมื่อรู้สึกมึนเมา แม้จะมีอาการเพียงเล็กน้อย

- หากจะว่ายข้ามแม่น้ำหรือว่ายไปยังเรือที่จอดอยู่ ให้ระมัดระวังให้มาก เพราะเรือที่จอดหรือฝั่งตรงข้าม จะอยู่ไกลกว่าที่คิดหรือที่มองเห็น โดยเฉพาะในน้ำที่ค่อนข้างเย็น จะทำให้เหนื่อยง่ายขึ้น

- หากเล่นน้ำในทะเล ควรว่ายขนานไปกับฝั่งจะปลอดภัยกว่าว่ายออกจากฝั่ง ขณะว่ายก็ควรมองฝั่งเป็นครั้งคราว เพราะอาจถูกกระแสน้ำพัดออกนอกฝั่งได้ หากจะว่ายน้ำออกจากฝั่ง ควรมีเพื่อนไปด้วย หรือมีเรือตามไปด้วย

- เมื่อเดินทางทางน้ำ รอให้เรือจอดเทียบท่าให้เรียบร้อย จึงค่อยก้าวขึ้น-ลง

- มองหาชูชีพทุกครั้งเมื่ออยู่บนเรือและเรียนรู้วิธีการใช้ สำหรับเด็กเล็กควรใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งที่ลงเรือ

- อ่านกฎระเบียบของสถานที่ท่องเที่ยว และปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด

- และอย่าลืมหัดว่ายน้ำ

ที่มา : http://www.manager.co.th/
update : 20/04/2011