วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553













ความปลอดภัยในการโดยสารเรือ

การจราจรบนถนนที่คับคั่งในปัจจุบัน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนหนึ่งหันมาใช้เส้นทางการจราจรทางน้ำกันมากขึ้น ซึ่งการโดยสารเรือมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับอันตรายจากอุบัติภัยทางน้ำ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย จึงขอแนะวิธีป้องกันอุบัติภัยทางน้ำ และการโดยสารเรือที่ถูกต้องและปลอดภัย ดังนี้

ผู้ประกอบการโป๊ะเทียบเรือ ติดตั้งป้ายระบุจำนวนคนที่สามารถรองรับน้ำหนักได้บริเวณโป๊ะเทียบเรือ จัดวางพวงชูชีพที่พร้อมใช้งานตามมุมต่างๆของโป๊ะอย่างน้อย ๔ พวง ติดตั้งไฟส่องสว่างให้เพียงพอตลอดบริเวณโป๊ะ และทางขึ้นลงโป๊ะ รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่ควบคุมมิให้ประชาชนลงไปยืนบนโป๊ะเทียบเรือเกินกว่าจำนวนที่กำหนด

เจ้าของเรือ ตรวจสอบเรือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน จัดเตรียมอุปกรณ์นิรภัยไว้ประจำเรือ เช่น เสื้อชูชีพ เครื่องดับเพลิง ติดตั้งป้ายระบุจำนวนผู้โดยสารบนเรือโดยสารในมุมที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ไม่บรรทุกผู้โดยสารหรือสิ่งของเกินกว่าน้ำหนักที่กำหนด ในขณะที่เรือแล่นสวนทางกันหรือแซงกันในระยะใกล้ให้ลดความเร็วลง เพื่อป้องกันอันตรายจากคลื่นน้ำของเรือ ตลอดจนควบคุมผู้โดยสารมิให้นั่งหรือยืนบริเวณหัวเรือ กราบเรือ และหลังคาเรือ รวมถึงกระทำกิจกรรมใดๆ ภายในเรือ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เรือล่ม ที่สำคัญ ห้ามดื่มสุราหรือเสพของมึนเมาเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ขาดสติจนไม่สามารถควบคุมเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ประชาชน หากว่ายน้ำไม่เป็นให้หลีกเลี่ยงการนั่งเรือเพียงลำพัง ควรให้มีเพื่อนร่วมเดินทางด้วย ถ้าต้องการเดินทางคนเดียว ให้บอกผู้ควบคุมเรือทราบ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน จะได้มีคนคอยให้ความช่วยเหลือ

การโดยสารเรือที่ถูกต้องปลอดภัย ควรปฏิบัติ ดังนี้

การยืนรอเรือ ไม่รอเรือบนโป๊ะหรือยืนชิดขอบโป๊ะมากเกินไป ให้ยืนรอภายในเขตเส้นที่กำหนด เพราะขณะที่เรือจอดเทียบท่า คลื่นอาจซัดทำให้ท่าเรือโคลงเคลง จนผู้ที่ยืนบนโป๊ะเสียการทรงตัวและพลัดตกน้ำ

การขึ้น - ลงเรือ รอให้เรือจอดเทียบท่าก่อนจะขึ้น - ลงจากเรืออย่างเป็นระเบียบ ไม่แย่งกันขึ้น - ลงเรือ อาจทำให้เรือโคลงเคลง หากมีผู้โดยสารมากไม่ควรลงเรือไปเสริม เพราะเรือที่บรรทุกเกินอัตราเสี่ยงต่อการล่มได้ง่าย

การโดยสารทางเรือ นั่งเรือให้เป็นที่และหาที่ยึดเกาะให้มั่นคง ไม่หยอกล้อเล่นกันหรือเดินไป – มา ในขณะที่เรือกำลังแล่น เพราะอาจทำให้เรือเสียการทรงตัว หลีกเลี่ยงการยืนบริเวณท้ายเรือ หรือกราบเรือ เพราะเสี่ยงต่อการพลัดตกน้ำ ให้กระจายการนั่งบนเรืออย่างสมดุล และคำนึงถึงการทรงตัวของเรือเป็นหลัก หากเรือมีอาการเอียงหรือไหว ให้นั่งนิ่งๆ อย่าตื่นตระหนก พยายามฝืนอาการเอียงของเรือ เมื่อเรือจอดเทียบท่า ให้ทยอยกันขึ้นจากเรืออย่างเป็นระเบียบ ส่วนผู้โดยสารที่ยังอยู่ในเรือให้ขยับที่นั่งใหม่ เพื่อให้เรือทรงตัวในลักษณะสมดุลที่สุด

กรณีพลัดตกเรือ ควบคุมสติให้มั่น พยุงตัวให้ลอยน้ำโดยใช้ขาทั้งสองข้างตีน้ำ หรือหาที่ยึดเกาะเพื่อรอการช่วยเหลือ อย่าว่ายน้ำเข้าหาฝั่งเอง เพราะอาจหมดแรงหรือเป็นตะคริวจมน้ำเสียชีวิตได้

หากเรือโดยสารล่ม อย่าตื่นตระหนก ตั้งสติให้มั่น พยายามว่ายน้ำผละออกจากเรือโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันถูกดูดเข้าไปใต้ท้องเรือและถูกใบพัดเรือตีจนได้รับบาดเจ็บ และพยุงตัวลอยน้ำไว้ ถอดสิ่งของที่ถ่วงน้ำหนักออกให้หมด รวมทั้งคว้าสิ่งของที่ช่วยให้ลอยน้ำได้ เช่น ยางรถยนต์ ถังน้ำ เพื่อรอการช่วยเหลือ

แม้การจราจรทางน้ำจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ แต่หากประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการโดยสารเรือ เรียนรู้วิธีปฏิบัติตนที่ถูกต้องและปลอดภัยในการโดยสารเรือ รวมถึงวิธีปฏิบัติตนหากเรือประสบอุบัติเหตุหรือตกน้ำ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยทางน้ำ และทำให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างปลอดภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉินทางน้ำ

ที่มา : www .thaihealth.or.th/node/15584/