วันอาทิตย์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ต้นแบบมาตรการลดอุบัติเหตุบนท้องถนน

ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุอยู่ในเกณฑ์ที่สูง เฉลี่ยวันละ 30 คน หรือทุก 2 ชั่วโมงจะมีคนเสียชีวิต 3 คน เมื่อเทียบกับประเทศที่มีจำนวนประชากรใกล้เคียงกับไทย เช่น ฝรั่งเศสและอังกฤษ พบว่า ในปี 2550 ไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 12,492 คน บาดเจ็บ 973,104 คนสูงกว่าฝรั่งเศสถึง 3 เท่าที่มีผู้เสียชีวิต 4,620 คน บาดเจ็บ 77,007 คน ขณะที่อังกฤษมีผู้เสียชีวิตเพียง 298 คน และบาดเจ็บ 264,288 คน

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินการแก้ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนของไทย พบว่าสอบตกในทุกมาตรการ ทั้งในเรื่องการลดความเร็ว ได้คะแนนเพียง 2 เต็ม 10 การลดการดื่มแล้วขับ ได้ 5 เต็ม 10 การใช้หมวกนิรภัยกับรถจักรยานยนต์ ได้ 4 เต็ม 10 การคาดเข็มขัดนิรภัย ได้ 5 เต็ม 10 ขณะที่การใช้ที่นั่งนิรภัยในเด็กไม่ได้คะแนน คือ 0 เต็ม 10 ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 106 จาก 178 ประเทศที่สำรวจ

แม้จะมีการประกาศให้ไทยเป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยหวังลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ครึ่งหนึ่งภายใน 10 ปีข้างหน้า แต่หนึ่งปีผ่านไปยังไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหามากนัก ซึ่งไทยอาจต้องนำตัวอย่างความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุจราจรในต่างประเทศ เช่น ยุโรป มาเป็นรูปแบบการดำเนินการลดปัญหาอุบัติเหตุ

ก่อนหน้านี้ การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในประเทศแถบยุโรปเกิดจากปัญหาที่หลายประเทศรวมทั้งไทยกำลังประสบอยู่ นั่นคือผู้ขับขี่มักไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมายจราจร ขาดการบังคับใช้กฎหมายจากภาครัฐอย่างจริงจัง ขณะที่ตำรวจจราจรก็มีน้อย อุปกรณ์มีจำกัด และไม่ได้ถูกบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ยุโรปจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จนมีข้อมูลงานวิจัยยืนยันว่าสามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงได้ถึงกว่าร้อยละ 50

หลักของการบังคับใช้กฎหมายในยุโรป ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มจำนวนใบสั่ง ค้นหาผู้กระทำผิด แต่เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการขับขี่และมีความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันโดยเริ่มจาก

1. กำจัดความเร็วเพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุและลดการบาดเจ็บรุนแรง ซึ่งการลดความเร็วเฉลี่ยบนถนนลง 1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงได้ถึงร้อยละ 4 ส่วนคนเดินเท้าที่ถูกรถชนร้อยละ 85 หากถูกชนที่ความเร็ว 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะเสียชีวิต แต่หากลดความเร็วลงเหลือ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะมีผู้เสียชีวิตเมื่อถูกชนเหลือเพียงร้อยละ 10

2. คาดเข็มขัดนิรภัย พบว่าสามารถลดการเสียชีวิตจาก 2.5 หมื่นคน ลงได้ถึง 1 หมื่นชีวิตแต่ต้องทำควบคู่ไปกับการรณรงค์ ประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง

3. การฝ่าฝืนกฎจราจรเกี่ยวกับการให้ทางพฤติกรรมการฝ่าฝืนกฎจราจร เช่น ไม่จอดให้คนข้ามถนนข้ามเมื่อมีสัญญาณคนข้าม ขับรถฝ่าไฟแดง ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุสูงถึงร้อยละ 50 ซึ่งในยุโรปมีเทคโนโลยีการใช้กล้องเพื่อช่วยในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น กล้องตรวจจับการฝ่าฝืนสัญญาณไฟ ได้ผลดีคุ้มค่าต่อการลงทุน แม้ประเทศไทยเริ่มมีใช้บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง

4. บังคับใช้กฎหมายดื่มแล้วขับ สร้างความชัดเจนเกี่ยวกับโทษ ผลกระทบและระดับแอลกอฮอล์ที่ผิดกฎหมาย กลยุทธ์ในยุโรป คือทำให้ผู้ขับขี่เกิดความรู้สึกว่าตนเองมีโอกาสถูกจับได้ตลอดเวลา หากทำผิดกฎหมาย ด้วยวิธีการสุ่มตรวจด้วยเครื่องเป่าวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ในทุกที่ ทุกเวลา และทำพร้อมกันเป็นวงกว้าง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ขับขี่ไม่สามารถหลบหนีไปในเส้นทางอื่นได้

5. ตรวจวัดสมรรถนะความพร้อมของผู้ขับขี่ ไม่เพียงแต่ในผู้ขับขี่อาชีพ อย่างรถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก เท่านั้นแต่รวมไปถึงผู้ขับขี่รถโดยทั่วไปด้วย


ในประเทศยุโรปได้จัดทำข้อเสนอแนะในการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการดำเนินงานได้คือ

     1. วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อกำหนดตัวชี้วัดด้านพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ

     2. บูรณาการการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับการรณรงค์ผ่านสื่อ อาศัยความรู้จากการศึกษาทดลองจากพื้นที่อื่นที่ประสบความสำเร็จ เพื่อเป็นแนวทางดำเนินงานและกำหนดทรัพยากรให้สอดคล้องในแต่ละกลยุทธ์

    3. พัฒนาระบบข้อมูลและระบบการฝึก เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะในการทำงานของตำรวจ บูรณาการการทำงานร่วมกันในระบบยุติธรรม เช่น กฎหมาย อัยการ ศาล เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพหลังจากการจับกุม

    4. สื่อสารถึงตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในระดับนโยบายหรือในกลุ่มตำรวจด้วยกันรวมทั้งพัฒนาเครือข่ายตำรวจทั้งภายในและระหว่างประเทศ

   5. ติดตามผลเพื่อเปรียบเทียบการบังคับใช้กฎหมาย ในแต่ละฐานความผิดกับการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับฐานความผิดดังกล่าว

"การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุในประเทศแถบยุโรปเกิดจากปัญหาที่หลายประเทศรวมทั้งไทยกำลังประสบอยู่นั่นคือผู้ขับขี่มักไม่ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามกฎหมาย จราจร ขาดการบังคับใช้กฎหมายจากภาครัฐอย่างจริงจัง ขณะที่ตำรวจจราจรก็มีน้อย อุปกรณ์มีจำกัด และไม่ได้ถูกบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ"


ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/node/17684
Update : 25-10-53