วันอังคารที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2553

'ผู้สูงอายุ' กับการตกเป็นเหยื่อ 'ความรุนแรง'

               เหลืออีกไม่กี่วันก็จะเข้าช่วง “เทศกาลปีใหม่” มีวันหยุดยาว ใครหลาย ๆ คน กำลังเตรียมตัวเดินทาง กลับบ้านเยี่ยมพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัยชรา เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณที่เลี้ยงดูเรามา แต่อีกด้านหนึ่งของสังคมใครจะรู้ว่ายังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องถูกทอดทิ้งและต้องตกเป็น “เหยื่อ” ของ “ความรุนแรงในสังคม”

            ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ แม้จะยังมีไม่มากเท่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและสตรี แต่แนวโน้มปัญหาความรุนแรงในผู้สูงอายุก็มีจำนวนเพิ่มมาก เห็นได้จากภาพข่าวทางโทรทัศน์และหน้าหนังสือพิมพ์ที่มีการนำเสนออย่างต่อเนื่อง!?!

            ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งจากคนใกล้ชิดและคนในสังคม ที่ดูเหมือนจะมีเพิ่มมากขึ้นทุกวันนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมต้องหันกลับมามองและหาทางออก เพื่อป้องกันและช่วยแก้ปัญหาในเรื่องนี้อย่างจริงจังเสียที!!!
 
รศ.ดร.จิราพร เกศพิชญวัฒนา คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแนวทางในการจัดการปัญหาผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า จากการทบทวนการศึกษาวิจัยในประเทศไทย ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่เกิดจากคนในครอบครัว ซึ่งโดยมากเป็นการกระทำด้านจิตใจและอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็น การใช้วาจา คำพูด การแสดงกิริยาท่าทางที่ไม่ให้ความเคารพ รังเกียจ ไม่เห็นถึงคุณค่าของผู้สูงอายุ  
   
           รองลงมาเป็นเรื่องการทอดทิ้งไม่ดูแล หรือไม่ให้การดูแลที่เหมาะสม โดยปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการที่ผู้ดูแลเกิดความเครียด เพราะมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาสูงขึ้น  ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายภาครัฐ และสังคม ในการจัดระบบรองรับเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุ ที่ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องการดูแลระยะยาว และหากไม่รีบดำเนินการแล้ว ปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ที่ผ่านมาสังคมไทยรับรู้เรื่องปัญหาการถูกกระทำความรุนแรงในกลุ่มเด็กและสตรีมากกว่าความรุนแรงในผู้สูงอายุ สาเหตุเพราะเป็นปัญหาที่ซ่อนเร้น และขาดการรายงานปัญหา รวมทั้งบุคลากรเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องไม่ได้ตระหนักและให้ความสำคัญแก่การกระทำรุนแรงในผู้สูงอายุ และประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดว่ามีการกระทำรุนแรงเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุจริง เพราะคิดว่าสังคมไทยให้ความสำคัญกับความกตัญญูกตเวทีต่อผู้สูงอายุ ขณะที่ผู้สูงอายุเองก็ไม่กล้าบอกหรือเล่าให้ผู้อื่นฟังว่าตนเองถูกกระทำรุนแรง

อย่างไรก็ตาม การที่คนในสังคมส่วนใหญ่เห็นว่าความรุนแรงในผู้สูงอายุยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่ จึงส่งผลให้การตระหนักในการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุในเรื่องนี้ยังมีข้อจำกัด  อยู่ โดยนางพจนา ธรรมรัตนพฤกษ์ ผู้อำนวยการกลุ่มการพัฒนามาตรการ กลไก สำนักส่งเสริมและพิทักษ์ผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวยอมรับว่า ปัจจุบันหน่วยงานที่ให้การสงเคราะห์ ช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับการกระทำรุนแรงยังมีอยู่จำกัด และส่วนใหญ่จะเน้นให้การช่วยเหลือ เด็กและสตรี ศ.ดร.จิราพร กล่าว

สอดคล้องกับ นพ.พรเพชร ปัญจปิยะกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การดำเนินการของศูนย์พึ่งได้ หรือศูนย์ OSCC ที่อยู่ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ รับแจ้งและให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเด็กและสตรีที่ได้รับความรุนแรง ซึ่งก็ยอมรับว่าในปัจจุบันข้อมูลและการเน้นผู้สูงอายุที่เป็นผู้ที่ได้รับผลจากความรุนแรงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญและต้องเน้นให้ความช่วยเหลือในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น
   
 สำหรับในส่วนของประเด็นในเรื่องของกฎหมายที่คุ้มครองผู้สูงอายุที่ถูกกระทำรุนแรงนั้น นางนงพรณ์ รุ่งเพชรวงศ์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า การประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 นั้น ได้ครอบคลุมถึงการคุ้มครองกลุ่มผู้สูงอายุด้วย แต่คดีความรุนแรงในกลุ่มผู้สูงอายุยังมีน้อยมากในปัจจุบัน เมื่อเทียบกับคดีความที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กและสตรี  

            สาเหตุที่คดีความมีน้อยอาจเป็นเพราะผู้สูงอายุที่เป็นพ่อแม่ที่ชราไม่ต้องการแจ้งความดำเนินคดีกับลูก ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยกับการนำประเด็นความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ ไปเพิ่มเติมในแผนปฏิบัติการการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพ โดยกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว ให้เน้นหรือให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้สูงอายุด้วย
   
            รวมทั้งการระแวดระวังของบุคลากรทางการแพทย์ที่พบผู้สูงอายุ ที่มารับการตรวจรักษาที่ห้องฉุกเฉินหรือห้องตรวจผู้ป่วยนอก  ซึ่งข้อมูลจากการซักประวัติหรือลักษณะท่าทางที่อาจมีผลหรือทำให้มีข้อสงสัยว่าผู้สูงอายุมีปัญหาถูกกระทำรุนแรงมา เช่น ให้ข้อมูลประวัติที่ไม่ชัดเจน มีรอยฟกช้ำดำเขียว ร่องรอยของการถูกทำร้ายร่างกาย อาการหวาดกลัว การไม่ยอมให้ข้อมูล หรือสภาพทางกายที่แสดงถึงการขาดการดูแล ฯลฯ

ทั้งนี้ในปัจจุบันสังคมไทยกำลังเดินเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว ทำให้ในอนาคตประชากรผู้สูงอายุ ก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในสังคม ปัญหาความรุนแรงในผู้สูงอายุก็ต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน!?!
   
จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐ ครอบครัว รวมถึงทุกคนในสังคมจะปล่อยเฉย หรือไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ไม่ได้อีกต่อไป!?

ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/node/13280
Update:04-01-53