วันจันทร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2553

อัลไซเมอร์ .... เมื่อการขี้ลืมไม่ได้เป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ

อายุมาก เป็นโรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง เป็นปัจจัยเสี่ยง

อัลไซเมอร์ (Alzheimer) จัดว่าเป็นโรคอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นภาวะสมองเสื่อมตามธรรมชาติ หรือตามอายุที่มากขึ้น มักพบในคนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เป็นหนึ่งของโรคที่พบบ่อยในกลุ่มโรคผิดปกติของสมอง "Dementia" ซึ่งมีการถดถอยหน้าที่ของสมอง จำเหตุการณ์และช่วงเวลาได้ไม่แน่นอน ความจำเสื่อม มีปฏิกิริยาโต้ตอบอย่างแปลกๆ พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่เหมาะสม อารมณ์จะไม่สม่ำเสมอ เป็นโรคที่ป้องกันไม่ได้และรักษาไม่หายขาด เพียงชะลออาการของโรคได้เท่านั้น จึงทำให้โรคอัลไซเมอร์แตกต่าง และรุนแรงกว่าอาการสมองเสื่อมที่เกิดจากสาเหตุอื่น ๆ

ปัจจัยเสี่ยงของ "อัลไซเมอร์" มีอะไรบ้าง
  1. อายุ ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น พบว่าร้อยละ 25 ของผู้ป่วยอายุ 85 ปี เป็นโรคนี้
  2. โรคความดันโลหิตสูงเรื้อรัง เพราะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความจำ การรักษาความดันจะทำให้ความจำดีขึ้น
  3. เรื่องของกรรมพันธุ์ ถ้ามีบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ หรือปัญญาอ่อน จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
  4. ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ลดลง ในวัยหมดประจำเดือนของผู้หญิง จะเพิ่มปัจจัยเสี่ยงให้แก่การเกิดโรคนี้
  5. ภาวะขาดสารอาหารที่มีแอนตี้ออกซิแดนท์ (Antioxidant) ที่ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์
  6. ภาวะที่สมองได้รับการกระทบกระเทือน

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's Disease)

  1. อาการหลงลืม เช่น หลงลืมสิ่งของ ลืมนัด จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้
  2. สับสนเรื่องเวลา สถานที่ กลับบ้านไม่ถูก
  3. จำบุคคลที่เคยรู้จัก เพื่อน หรือสมาชิกในครอบครัวไม่ได้ คิดว่าเป็นคนแปลกหน้า
  4. ปัญหาเรื่องการพูด ลืมหรือเรียกสิ่งของไม่ถูก พูดคำ หรือประโยคซ้ำ ๆ
  5. ไม่สนใจในสิ่งที่เคยสนใจ กิจกรรมประจำวัน งานอดิเรก
  6. ปัญหาเรื่องการนับหรือทอนเงิน การใช้โทรศัพท์
  7. พฤติกรรมที่อาจเกิดปัญหายุ่งยาก เช่น ออกนอกบ้านเวลากลางคืน พฤติกรรมก้าวร้าว
  8. ไม่สนใจดูแลความสะอาดของตัวเอง เช่น แปรงฟันไม่เป็น อาบน้ำไม่เป็น

หากพบว่า ผู้สูงอายุในครอบครัวมีพฤติกรรมปัญหาดังกล่าว ข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่า อาจเป็นไปได้ว่า มีปัญจัยเสี่ยงต่อโรคอัลไซเมอร์ หรืออาจมีปัญหาด้านสุขภาพอื่น ๆ


  • ที่มา: โรงพยาบาลเวชธานี
  • 23-07-52