วันอังคารที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ข้ออักเสบรูมาตอยด์ รู้ช้าเสี่ยงพิการ

เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุด

"ข้ออักเสบรูมาตอยด์” (Rhumatoid Arthritis) ชื่อนี้คุ้นหูมานาน แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเจ้าโรคนี้คืออะไร มีลักษณะอย่างไร ถ้าไม่ใช่ผู้ป่วยหรือคนใกล้ชิดที่ได้ประสบกับตัวเอง

โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุด และจัดเป็นลำดับที่ 2 ของโรคข้อที่พบบ่อยที่สุดรองจากโรคข้อเสื่อม ในระยะแรกผู้ป่วยจะทุกข์ทรมานจากข้ออักเสบหลายข้อพร้อมกัน หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ข้อจะเคลื่อนหลุด ผิดรูป และเกิดภาวะทุพพลภาพในที่สุด
สาเหตุของโรค
สาเหตุที่แท้จริงของโรคนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่โรคนี้ไม่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมและไม่ใช่โรคติดต่อจึงไม่แพร่กระจายไปยังบุคคลอื่น ความผิดปกติของเซลล์ต่างๆ ที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันเป็นต้นเหตุที่ทำให้เยื่อบุข้ออักเสบ ทำให้มีการสร้างน้ำในข้อเพิ่มขึ้น กระดูกอ่อนถูกทำลาย กระดูกในข้อกร่อน ปลอกหุ้มข้อรวมทั้งเอ็นรอบข้อหลวมและฉีกขาด ทำให้ข้อเคลื่อนหลุดและผิดรูปในที่สุด
อาการของโรครูมาตอยด์
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์จะมีอาการปวด บวม กดเจ็บ มีน้ำในข้อ และขยับเคลื่อนไหวข้อได้น้อยลงเนื่องจากเจ็บปวด มีการอักเสบของข้อพร้อมกันหลายข้อทั้งสองฝั่งของร่างกาย โดยเฉพาะข้อเล็กๆ ของนิ้วมือ นิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเท้า ข้อศอก และข้อไหล่ บางรายอาจมีข้ออักเสบจำนวน 1–2 ข้อก่อนในระยะแรก แล้วมีการเพิ่มจำนวนข้ออักเสบอีกเรื่อยๆ ในเวลาต่อมาจนกลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรังหลายข้อในที่สุด และอาจพบปุ่มรูมาตอยด์ที่ผิวหนังด้านหลังแขนต่ำจากปลายศอกลงมาเล็กน้อยหรือที่นิ้วมือหรือข้อมือ นอกจากนี้ส่วนใหญ่จะมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดร่วมด้วย โดยอาการมักเริ่มด้วยอาการฝืดตึงตามข้อต่างๆ โดยเฉพาะที่ข้อนิ้วมือทั้งสองข้างในเวลาตื่นตอนเช้า ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถกำมือได้เต็มที่และลุกขึ้นจากเตียงนอนลำบาก อาการฝืดตึงอาจเป็นได้นานตั้งแต่ครึ่งชั่วโมงจนถึงหลายชั่วโมง
โรครูมาตอยด์สามารถรักษาให้หายขาดได้
โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบซึ่งมีการดำเนินโรครุนแรงและเรื้อรัง จนทำลายโครงสร้างต่างๆ ของข้อและทำให้เกิดความพิการได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง มีการศึกษาพบว่าโรคจะมีความรุนแรงมากในช่วงระยะ 2–3 ปีแรก หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่แรกก็จะทำให้โรคสงบลงหรือหายขาดได้ ปัจจุบันจึงมีการรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการวินิจฉัยและการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ให้ได้อย่างถูกต้องตั้งแต่ในระยะแรก

ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมจนสามารถควบคุมโรคได้ดี จะสามารถมีชีวิตที่เป็นปกติสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป ในทางตรงข้ามภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่มีการควบคุมโรคไม่ดีจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการหรือเสียชีวิตได้
ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรครูมาตอยด์
ผู้ป่วยและญาติควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและยาต่างๆ ที่ใช้รักษาโรค ทราบถึงการทำกายภาพบำบัดที่ถูกต้องเพื่อลดอาการเจ็บปวดและวิธีปฏิบัติตนเองเพื่อป้องกันความพิการ ซึ่งสามารถศึกษาได้จากสื่อต่างๆ ทั่วไป ผู้ป่วยไม่ควรปรับขนาดยาโดยพลการหรือซื้อยามากินเอง รวมทั้งต้องไม่แบ่งปันยาของตนเองไปให้ผู้อื่น ควรรับการรักษาอย่างสม่ำเสมอและปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์อย่างเคร่งครัด

หากสงสัยว่าจะเป็นหรือมีอาการลักษณะเดียวกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโรคเสียตั้งแต่เนิ่นๆ เพระโรคนี้หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและถูกวิธีตั้งแต่ในระยะแรกโดยเฉพาะใน 2–3 ปีแรกอาจทำให้โรคเรื้อรังชนิดนี้เข้าสู่ภาวะสงบโดยที่ไม่เกิดความพิการหรือภาวะแทรกซ้อนตามมา
ที่มา : โดย รศ.พญ. ไพจิตต์ อัศวธนบดี อายุรแพทย์โรคข้อ www.thaihealth.or.th/node/14896/