วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การวางแผนดูสุขภาพของตนเองและบุคคลในครอบครัว

การวางแผนดูแลสุขภาพตนเองและบุคคลในครอบครัว เป็นเรื่องที่มีคุณค่าอย่างยิ่งเพราะนอกจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ตัวของเราเองและบุคคลในครอบครัวเกิดความกระตือรือร้นในการดูแลสุขภาพแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดสัมพันธภาพอันดีระหว่างสมาชิกทุกคนในครอบครัว เกิดความรักในครอบครัวซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างดี อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

1. คุณค่าของการวางแผนดูแลสุขภาพของตนเองและบุคคลในครอบครัว

คำว่า “สุขภาพดี” ในแต่ละคนนั้นอาจแตกต่างกันออกไปตามแต่สภาวะสังคม หรือรูปแบบของวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วสุขภาพดีอย่างน้อยจะต้องหมายถึง ความสมบูรณ์ของทั้งร่างกายและจิตใจ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะเกิดได้เนื่องจากการดูแลเอาใจใส่ระบบต่าง ๆ ที่สำคัญของร่างกาย การที่จะมีสุขภาพดีได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพของตนเองหรือของบุคคลในครอบครัว ไม่ใช่เป็นสิ่งเกิดขึ้นได้ด้วยความบังเอิญ หากแต่จำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนในการดูแลสุขภาพล่วงหน้าซึ่งจะช่วยให้เกิดผลดี ดังนี้  
  1. สามารถที่จะกำหนดวิธีการ หรือเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของตัวเราเองหรือบุคคลในครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
  2. สามารถที่จะกำหนดช่วงเวลาในการดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสม อาจจะมีกิจกรรมการออกกำลังกายในช่วงเช้า หรือในบางครอบครัวอาจจะมีเวลาว่างในช่วงเย็น ก็อาจจะกำหนดกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพในช่วงเย็นก็ได้ หรืออาจจะกำหนดช่วงเวลาในการตรวจสุขภาพประจำปีของบุคคลในครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
  3. เป็นการเฝ้าระวังสุขภาพทั้งของตนเองและบุคคลในครอบครัว ไม่ให้ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ นับว่าเป็นการสร้างสุขภาพ ซึ่งจะดีกว่าการที่จะต้องมาซ่อมสุขภาพ หรือการรักษาพยาบาลในภายหลัง
  4. ช่วยในการวางแผนเรื่องของเศรษฐกิจและการเงินในครอบครัว เนื่องจากไม่ต้องใช้จ่ายเงินไปในการรักษาพยาบาล
  5. ส่งเสริมสุขภาพทั้งของตนเองและบุคคลในครอบครัว
  6. ทำให้คุณภาพชีวิตทั้งของตนเองและสมาชิกในครอบครัวดีขึ้น
2. การวางแผนดูแลสุขภาพของตนเอง  
  1. การสำรวจรูปแบบการดำเนินชีวิตของตนเองว่าเป็นอย่างไร นักเรียนอาจทำได้โดยการลองจดบันทึกประจำวันว่าแต่ละวันใน 1 สัปดาห์ หรือ 1 เดือนนั้น นักเรียนทำอะไรบ้าง แล้วนำกลับมาพิจารณาว่านักเรียนมีพฤติกรรมใดที่ส่งเสริมหรือขัดขวางต่อการมีสุขภาพที่ดีหรือไม่
  2. จากข้อมูลที่ได้ นักเรียนลองนำมากำหนดเป็นแผนในการที่จะดูแลสุขภาพของตนเองโยอาจจะเริ่มต้นด้วยการกำหนดเป็นแผนรายวัน หรือรายสัปดาห์ก่อน ว่านักเรียนจะต้องประกอบกิจกรรมอะไรบ้างที่จะช่วยในการส่งเสริมสุขภาพของตนเอง
  3. เมื่อกำหนดแผนในการดูแลสุขภาพตนเองได้แล้ว ก็ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ และประเมินผลเป็นระยะ ๆ ว่าตนเองสามารถดำเนินการในการดูแลสุขภาพของตนเองตามแผนที่วางไว้ได้หรือไม่
  4. หากพบว่าไม่สามารถปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ได้ ก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์ใหม่ ว่าเกิดจากปัจจัยใด และลองปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะสมกับตนเองให้มากที่สุด  
คุณค่าของการวางแผนดูแลสุขภาพของตนเอง

สุขภาพเป็นรากฐานที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ นับตั้งแต่การปฏิสนธิจนถึงสิ้นอายุขัย สุขภาพจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล สังคมและสิ่งแวดล้อม หากขาดความสมดุลก็จะก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้


ในปัจจุบันประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไป และมีพฤติกรรมสุขภาพไม่เหมาะสม ขาดความสนใจละเลยต่อการดูแลสุขภาพ เช่น บริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย ใช้สารเสพติด ขาดการพักผ่อนและมีความเครียด เป็นต้น สาเหตุเหล่านี้เป็นสิ่งบั่นทอนสุขภาพและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ ถ้าหากเรามีการบำรุงรักษา ดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรงตลอด จะเป็นเสมือนเกราะป้องกัน โรคภัยต่าง ๆ ไม่ให้ทำอันตรายต่อร่างกายได้ และยิ่งมีการปฏิบัติอย่างถูกต้องจนเป็นสุขนิสัย ความแข็งแกร่งทนทานในการป้องกันโรคก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เป็นผลทำให้ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างสดชื่น แจ่มใส ไม่เจ็บป่วยและมีชีวิตยืนยง

 3. การวางแผนดูแลสุขภาพของบุคคลในครอบครัว  
  1. การสำรวจรูปแบบการดำเนินชีวิตของสมาชิกในครอบครัวว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากการดูแลสุขภาพของบุคคลในครอบครัวนั้น ไม่ใช่เป็นการดำเนินงานโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งเพียงคนเดียวแล้วจะประสบความสำเร็จ หากแต่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในครอบครัวเป็นสำคัญ
  2. จากข้อมูลที่ได้ นำมากำหนดเป็นแผนการในการที่จะดูแลสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวโดยการกำหนดเป็นแผนในการดูแลสุขภาพซึ่งอาจจะทำแยกเป็นรายบุคคล หรืออาจจะทำเป็นภาพรวมของทุกคนในครอบครัว
  3. เมื่อกำหนดแผนในการดูแลสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวได้แล้ว ก็ดำเนินตามแผนที่วางไว้ และประเมินผลเป็นระยะ ๆ ว่าบุคคลในครอบครัวสามารถปฏิบัติตามแผนในการดูแลสุขภาพที่วางไว้ได้หรือไม่ อย่างไร
  4. หากพบว่างไม่สามารถปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ได้ ก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์ใหม่ ว่าเกิดจากปัจจัยใด และลองปรับเปลี่ยนแผนให้เหมาะสมกับสมาชิกในครอบครัวของเราให้มากที่สุด
ที่มา :  http:// www.mwit.ac.th/~t2090107/link/sheet/HPE301031/sheet_5doc.
            http://www.sainampeung.ac.th/wbi/ict-teacher