วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

หนุ่มสาวจิตป่วย กดดัน – เครียด - เป็นบ้า


จิต' คำคำนี้ในสังคมไทย เป็นคำที่มีความหมายค่อนข้างลบ แถมยังผูกพ่วงมากับภาพลักษณ์ของความน่ากลัวและน่าอันตราย เอาเป็นว่าถ้ามีคนโรคจิตสักคน มาขออาศัยอยู่ร่วมชายคา เชื่อว่าคนร้อยทั้งร้อยต้องคิดทบทวนกันอย่างหนัก และมีน้อยยิ่งกว่าน้อยที่ตอบว่าเอาสิ ได้โดยไม่มีความเคลือบแคลงกังวล

แต่ทราบหรือไม่ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ปีๆ หนึ่ง มีคนไทยที่ป่วยเป็นโรคทางจิตอยู่ถึงกว่าหนึ่งแสนคน โดยอันดับแรก เป็นผู้ป่วยที่ป่วยด้วยโรคจิตเภท รองลงมาก็เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้า และตามติดมาด้วยผู้ป่วยอาการทางจิตที่เนื่องมาจากการเสพสารเสพติด
ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสาเหตุจากอะไรก็ตาม ก็นับเป็นผู้ป่วยทางจิตทั้งนั้น แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น ก็คือ ในบรรดาผู้ป่วยกว่า 100,000 คนที่เข้ามารับการรักษานั้น เกือบทั้งหมดเป็นคนที่มีอายุเฉลี่ย 20 – 30 ปี หรือพูดง่ายๆ ก็คือผู้ป่วยทางจิตของไทยส่วนมากจะเป็นคนในวัยซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ

มันเกิดอะไรขึ้นกับหนุ่มสาวไทยกันแน่นะ ???

หนุ่มสาวไทยกับอาการป่วยไข้ทางจิต

การที่คนอายุ 20 – 30 ปี กว่าแสนคน ตบเท้าเดินเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการทางจิตในปีที่ผ่านมา หากลองทบทวนให้ดี ตัวเลขเหล่านี้ ย่อมมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่สามารถบอกอะไรบางอย่างกับเราได้
นายแพทย์ศักดา กาญจนาวิโรจน์กุล ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศรีธัญญา ให้ความกระจ่างเกี่ยวกับผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทไว้ว่า สาเหตุที่แท้จริงนั้นยังไม่มีใครรู้ว่าเกิดมาจากอะไร ซึ่งส่วนใหญ่ที่มักแสดงอาการในช่วงคนอายุ 20-30 ปีนั้น ก็เนื่องจากในช่วงอายุนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมองที่เรียกว่า สื่อนำทางประสาทผิดปกติ จึงทำให้ระบบความคิดของผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไป และส่งผลให้มีการแสดงออกทางพฤติกรรมที่แปลก เช่น การแต่งตัวแปลกๆ ควบคุมตัวเองไม่ได้ เก็บตัว ไม่ยุ่งกับใคร หรืออาจจะแสดงออกทางลักษณะประสาทหลอนก็เป็นได้

“ถือว่าเป็นอาการผิดปกติของคน จะเกิดอาการประสาทหลอนทางหู ตา หรือการหลงผิดต่างๆ ที่ผ่านมาเราเจอกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นจิตเภทอยู่สองประเภท คือ แสดงออกทางบวก พวกนี้จะเอะอะ โวยวาย ก้าวร้าว หูแว่ว หลงผิดคิดว่าคนจะมาทำร้าย อีกกลุ่มหนึ่งแสดงอาการทางลบ ไม่ยุ่งกับใคร ไม่สังคมกับใคร ไม่ดูแลตัวเอง อยู่เฉยๆ ซึ่งโอกาสเกิดมีร้อยละ 1 เท่านั้น”

ในส่วนของการป้องกันนั้น นายแพทย์คนเดิมบอกว่า ส่วนใหญ่จะป้องกันในกลุ่มผู้ที่ป่วยแล้วไม่ให้กลับมาเป็นโรคเดิมซ้ำมากกว่า ซึ่งถ้าหากจะป้องกันคนทั่วไปไม่ให้เป็นโรคจิตเภทเลย ถือเป็นเรื่องลำบาก เพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

อย่างไรก็ตามสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดู ก็มีส่วนช่วยให้คนที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคไม่ให้เป็นได้ และหากเป็นโรคนี้แล้วต้องรักษา เมื่อในทางการแพทย์เชื่อว่ามีสารเคมีผิดปกติ ก็ต้องรักษาโดยการให้ยาร่วมกับการทำจิตบำบัดควบคู่กันไป

“คนที่เป็นมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็น แต่คนข้างๆ สามารถสังเกตได้ เขาเป็นโรค คนคนนั้นต้องมีลักษณะพฤติกรรมการพูด เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เก็บตัว ก้าวร้าว นั่งพูดคนเดียว หรือเดินไปเรื่อยๆ โดยไม่มีจุดประสงค์ ง่ายๆ เรื่องการนอน นอนไม่ค่อยหลับก็ช่วยให้สังเกตได้”
นายแพทย์ศักดาบอกอีกว่า จากที่เคยพบในงานวิจัย ผู้ป่วยในโรคนี้ โอกาสที่จะทำร้ายผู้อื่น หรือทำการฆาตกรรม ไม่ต่างจากคนทั่วไปมากนัก เพียงแต่พวกผู้ร้ายที่เป็นโรคจิตเภท เมื่อทำร้ายผู้อื่นจึงตกเป็นข่าวดัง

“จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ต่างจากคนทั่วไป ไม่เชื่อลองดูในหนังสือพิมพ์ได้ ส่วนมากที่ก่อคดีก็ไม่ได้เกิดจากคนไข้โรคจิต คนธรรมดาทั้งนั้น แต่เมื่อถามว่าคนไข้กลุ่มนี้เขามีโอกาสที่จะทำอันตรายผู้อื่นหรือไม่ ก็แค่ช่วงที่อาการกำเริบเขาก็จะควบคุมตัวเองได้น้อย และอาจจะมีโอกาสทำได้ง่ายกว่าคนปกติ”
และจากการวิจัยนั้นยังบอกอีกว่า ส่วนใหญ่แล้ว คนไข้จิตเภท มักจะเป็นฝ่ายถูกทำร้ายจากคนที่ไม่ได้ป่วยเสียมากกว่า

เครียดก็บ้าได้

จากข้อมูลที่นายแพทย์ศักดา ให้มา ทำให้เราทราบว่าแท้แล้ว โรคจิตเภทนั้น เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ทั้งยังไม่รู้ที่มาของสาเหตุชัดเจน รู้แต่ว่ามันสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีบางอย่างในสมอง ซึ่งในทางการแพทย์นั้น เชื่อกันว่า นั่นเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคทางจิต
หากแต่เมื่อมองไปรอบๆ ตัว ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า นอกจากเรื่องของสารเคมีในสมอง ที่เป็นเรื่องทางการแพทย์แล้ว ความเครียดจากสภาวะสังคม ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ที่คนทั่วไปเชื่อว่า มันส่งผลต่ออาการป่วยไข้ของจิตใจแน่นอน

ปิยศักดิ์ ประไพพร หนุ่มวัยใกล้ 30 ที่กำลังต่อสู้แบบปากกัดตีนถีบ เพื่อความอยู่รอดในสังคม เล่าให้เราฟังว่าความเครียดในการหาเลี้ยงชีวิตก็มีผลกับจิตใจไม่แพ้กับการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ซึ่งอาจจะนำไปสู่อาการป่วยไข้ทางจิตได้ง่ายๆ แต่เขาโชคดีที่เขาค้นพบทางออกของตัวเองในการจัดการความเครียดเหล่านั้นแล้ว

“คนในวัยเกือบสามสิบ หรือคนวัยผมทุกคนนั้นค่อนข้างมีความเสี่ยงนะ สังคมมันค่อนข้างกดดัน เพราะแต่ละคนมีความมุ่งหมายที่ตั้งเอาไว้แล้วต้องไปให้ถึง ตอนนี้หลายคนก็ต้องคิดแล้วว่าจะซื้อบ้านดีไหม? จะต้องอยู่หอไปจนแก่หรือ? บางทีก็งงๆ ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปในอนาคตดี อย่างผม ซึ่งเป็นคนที่เรียนไม่จบอาจจะเสี่ยงเยอะกว่า เพราะว่าทางเลือกที่เลือกได้มันยิ่งแคบลงๆ มีความกดดันมากกว่าคนที่เรียนจบและมีทางเลือกในการทำงาน

“ทางออกของผมก็คือ การคิดให้ตก คิดให้มากจนไม่ต้องคิดมากอีกต่อไป อย่างเช่น เมื่อก่อนเรามีเป้าหมายชีวิตทั้งเรื่องบ้านเรื่องลูกสูง แต่เอาเข้าจริงมันยังทำไม่ได้ เราก็ต้องคิดที่จะลดเป้าหมายลงมา อยู่ในสภาพความเป็นจริง ค่อยๆ คิดค่อยๆ ทำไป ถ้าเราคิดตกจริงๆ เราจะไม่เครียดและไม่มีปัญหาทางจิตนะ แต่ถ้าคิดไม่ได้ สมมติมีเงินเดือนแค่หมื่นกว่า แต่ยังอยากได้รถ ไม่ยอมปรับเป้าหมายสุดท้ายก็ต้องไปซื้อมา สุดท้ายปัญหามันก็ไม่จบ อย่างนี้อาจจะป่วยทางจิตเอาได้ง่ายๆ เพราะปัญหาเก่าใหม่มันมารุมเร้า”
เช่นเดียวกับ นาถณดา ชัชวาลกิจกุล สาวพนักงานธนาคาร ที่ถึงแม้จะมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง แต่ก็ต้องเผชิญกับงานที่ซ้ำซาก และน่าเบื่อหน่ายอยู่ทุกวี่ทุกวัน แต่กระนั้น เธอก็มีทางออกสำหรับระบายความเครียดของตนเอง

“งานที่เราทำมันเป็นงานรูทีน เหมือนกันทุกวัน และเกิดความเครียดในการทำงานได้ง่าย ถ้าไม่มีการระบาย จิตใจอาจจะมีปัญหาได้นะ ซึ่งสำหรับเราแล้ว การได้พบ ได้พูดคุยกับเพื่อนนั้น เป็นทางออกที่ดีที่สุด คือเวลาเจอกัน เราไม่ต้องถึงขั้นเล่าเรื่องหนักใจของเราให้เขาฟังหรอก แค่พูดคุย เล่นกันเฉยๆ ก็ผ่อนคลายแล้ว”

ตัวอย่างเยียวยาหัวใจให้ฟื้นจากความซึมเศร้า

10 กว่าปีก่อน ในแวดวงแฟชั่นระดับโลก ชื่อเสียงเรียงนามของ ยุ้ย-รจนา เพชรกันหา หญิงสาวจากอุบลราชธานีผู้นี้ คือซูเปอร์โมเดลที่ได้รับการยอมรับ เธอคือพรีเซ็นเตอร์ที่ชาแนลรักใคร่ เป็นที่ชื่นชอบของคัมภีร์แฟชั่นอย่าง VOGUE เป็นหญิงสาวที่ทำให้โลกตะวันตกได้ตระหนักถึงความงามของเอเชีย กระทั่งได้รับการกล่าวขานว่า เธอคือภาพแทนของความงามแห่งโลกตะวันออก
“ยุ้ยต้องใช้เวลานานหลายปีเลยค่ะ กว่าจะกลับมาเข้มแข็งได้ ยอมรับว่าช่วงที่ชีวิตย่ำแย่ จิตใจเราอ่อนแอมากๆ แล้วยุ้ยก็บอกตรงๆ ได้เลยค่ะ ว่าครอบครัวยุ้ย ไม่ได้อบอุ่นนัก พอเรามีโอกาสได้ไปพบกับสภาพสังคมในเมืองใหญ่ ไปพบกับแรงกดดันและไปพบกับสิ่งยั่วยุมากมายโดยที่พื้นฐานจิตใจเราไม่ได้มีเบ้าหลอมที่แข็งแรง มันก็ทำให้เราถูกชักจูง ถูกคล้อยตามจากคนไม่ดีได้ง่าย ยุ้ยว่าสภาพสังคมรอบข้าง ผู้คนรอบข้างก็มีส่วนที่ทำให้เราเกิดความกดดัน ทำให้เราเกิดความเครียด และทำให้เราหลงคล้อยตามไปกับสิ่งต่างๆ ที่ไม่ดี และนอกจากผู้คนรอบข้าง สภาพสังคมรอบตัวแล้ว สภาพจิตใจของเราก็มีส่วนมากๆ เหมือนกัน ซึ่งยุ้ยก็ยอมรับว่ายุ้ยไม่หนักแน่น ไม่เข้มแข็งพอ”

เมื่อจิตใจของเธอไม่อาจทัดทานสิ่งยั่วยุที่เป็นค่านิยมของวงการ สยบยอมต่ออำนาจยาเสพติด ทั้งจิตใจไม่อาจรับมือกับความสำเร็จ 'ระดับโลก' ที่ประเดประดังมาอย่างไม่คาดคิด การปล่อยตัวปล่อยใจอย่างเคว้งคว้างไร้หลักที่มั่นคง จึงนำเธอไปสู่จุดตกต่ำอย่างที่สุด ติดยางอมแงม ตกอับกลับมาเมืองไทยด้วยสภาพจิตใจล้มเหลว มีผลข้างเคียงจากการติดยาเป็นเวลานาน มีเงินใช้วันละไม่ถึง 100 บาท แต่ในที่สุด ด้วยกำลังใจจากแม่ของเธอและคนรอบตัวที่รักและหวังดีอย่างแท้จริง ยุ้ย ก็กลับมาใช้ชีวิตอย่างรู้คุณค่าอีกครั้ง ทั้งยังฝากเป็นกำลังใจให้ทุกๆ คน ที่กำลังประสบกับภาวะความเครียด ซึมเซา เนื่องจากสภาพสังคมและผู้คนรอบข้างว่า

“ที่ยุ้ยเป็นห่วงมากๆ ก็คือเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่อายุยังน้อย เพราะเขาเป็นวัยที่อาจจะถูกชักจูงได้ง่าย ถ้าไปเจอคนไม่ดี ชักนำไปในทางไม่ดีก็อาจคล้อยตาม อยากให้ทุกคนเลือกคบเพื่อนดีๆ คบคนดีๆ ตัวยุ้ยเองที่กลับมาเข้มแข็งได้ ยอมรับเลยว่า แม่ของยุ้ยเป็นคนสำคัญมากๆ ที่คอยให้กำลังใจ แล้วก็ใครอีกหลายๆ คนที่เป็นคนดี มองโลกในมุมดีๆ อยู่ใกล้คนที่มีทัศนคติดีๆ แล้ว ชีวิตเราจะมีความสุขขึ้น แต่นอกจากการเลือกคบคนดีๆ และมีพ่อแม่ผู้ปกครองที่คอยใส่ใจลูกๆ แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างก็คือ ตัวเราเองก็ต้องมีจิตใจที่หนักแน่น เข้มแข็งด้วย ซึ่งทุกวันนี้ยุ้ยเข้มแข็งขึ้นได้ ก็เพราะได้หันมาสนใจ ศึกษาธรรมะ ทำให้จิตใจเราสงบและมีสติ เป็นสิ่งที่ช่วยได้มากเลยค่ะ”

เมื่อความสำเร็จหรือล้มเหลว ล้วนเป็นธรรมดาของชีวิต การที่ยุ้ยยอมรับความเป็นจริง ยอมรับความผิดพลาดและกลับมายืนหยัดได้อีกครั้ง จึงน่าจะเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้ใครที่กำลังท้อแท้ ซึมเซา จมจ่อมอยู่กับปัญหาชีวิตที่เป็นผลร้ายบั่นทอนทางจิต จนอาจจะเป็นโรคจิตถึงบ้าได้ ให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้ง
แต่ไม่ว่าคนเราจะมีอาการป่วยทางจิตด้วยสาเหตุใดก็ตาม ความจริงข้อหนึ่งที่เราต้องยอมรับก็คือ ในสังคมที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ มีคนที่มีความเสี่ยงที่จะป่วยทางจิตอยู่ถึง 1 ใน 100 และใครจะรู้ว่าหนึ่งในนั้น อาจจะเกิดขึ้นกับเราในวันใดวันหนึ่งก็ได้ ดังนั้น ทางที่ดีก็ควรที่จะเริ่มดูแลสุขภาพจิตของตัวเองตั้งแต่วันนี้ เพื่อว่า เราจะได้มีชีวิตที่ห่างไกลโรคจิตเภทและสามารถดำรงชีวิตอย่างปกติท่ามกลางสภาพสังคมที่สับสนซับซ้อนและชวนป่วยอย่างในทุกวันนี้

คู่มือสังเกตคนเพี้ยน (Schizoid personality Manual)

การที่จะรู้หรือไม่รู้ว่าใครจะเป็นโรคจิตเภทหรือไม่นั้น สามารถทำได้โดยการสังเกตอาการและดูดีกรีความเพี้ยนในการใช้ชีวิตของเขา ว่าดำเนินไปอย่างไร ซึ่งถ้าหากใครมีคุณสมบัติความเพี้ยนครบ 8 ข้อ ดังข้างล่างนี้ ก็แนะนำให้พาเขาไปหาหมอได้ทันที เพราะเขาคนนั้นมีโอกาสป่วยเป็นโรคจิตเภทเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว
  1. ไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับใคร แม้แต่คนในครอบครัว,
  2.  ชอบทำงานที่ทำคนเดียว หรือกิจกรรมที่ทำคนเดียว
  3.  ไม่ค่อยมีความสุข หรือสนุกกับอะไรเป็นพิเศษ 
  4.  ไม่มีเพื่อนสนิทคนอื่นซึ่งไม่ใช่ญาติสายตรง (อาจจะสนิทกับญาติสายตรงบางคนได้) 
  5. รักษาความสัมพันธ์กับคนอื่นนานๆ ไม่ได้ เช่น คบเพื่อนนานเป็นปีๆ หรือสิบๆ ปีได้ยาก ฯลฯ 
  6. ไม่หวั่นไหวต่อคำสรรเสริญและนินทา (แต่ไม่ใช่ผู้บรรลุธรรมชั้นสูงแต่อย่างใด) 
  7. แสดงความรู้สึกน้อย (ทั้งด้านบวกและลบ) 
  8. มีความคิดเพ้อเจ้อ ฝันกลางวัน
ข้อมูลจาก clevelandclinic.org

โรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่รั้งตำแหน่งที่สองของผู้ป่วยทางจิตในบ้านเรา ซึ่งถ้าเราจะนิยามความหมายแล้ว ก็อาจจะบอกได้คร่าวๆ ว่า โรคซึมเศร้านั้นคือ การป่วยทั้งร่างกาย จิตใจและความคิด ซึ่งผลของโรคกระทบต่อชีวิตประจำวันเช่นการรับประทานอาหาร การหลับนอน ความรับรู้ตัวเอง ผู้ป่วยไม่สามารถประสานความคิด ความรู้สึกของตัวเพื่อแก้ปัญหา หากไม่รักษาอาการอาจจะอยู่เป็นเดือน ซึ่งโรคซึมเศร้าแบ่งอาการได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้
  1. Major depression ผู้ป่วยจะมีอาการ เช่น รู้สึกซึมเศร้า กังวล หงุดหงิดฉุนเฉียว โกรธง่าย อยู่ไม่สุข กระวนกระวาย ซึ่งอาการเหล่านี้จะรบกวนการทำงาน การรับประทานอาหาร การนอน การเรียน การทำงาน และอารมณ์สุนทรีย์ อาการดังกล่าวจะเกิดเป็นครั้งๆ แล้วหายไปแต่สามารถเกิดได้บ่อยๆ  
  2. Dsthymia เป็นภาวะที่รุนแรงและเป็นเรื้อรังซึ่งจะทำให้คนสูญเสียความสามารถในการทำงานและความรู้สึกที่ดี  
  3. Bpolar disorder หรือที่เรียกว่า manic-depressive illness ผู้ป่วยจะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ซึ่งบางคนอาจจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่วนมากจะค่อยเป็นค่อยไป เวลาซึมเศร้าจะมีอาการมากบ้างน้อยบ้าง แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นช่วงอารมณ์ mania ผู้ป่วยจะพูดมาก กระฉับกระเฉงมากเกินกว่าเหตุ มีพลังงานเหลือเฟือ ในช่วง mania จะมีผลกระทบต่อความคิด การตัดสินใจและพฤติกรรมผู้ป่วยอาจจะหลงผิด หากไม่รักษาภาวะนี้อาจจะกลายเป็นโรคจิตเภท 
ซึ่งการรักษาอาการของโรคซึมเศร้านั้น ทำได้ 2 วิธีคือการช็อตไฟฟ้า (ECT) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรง และการใช้ยาต้านโทมนัส

ที่มา : http://www.siamhealth.net/

เรื่อง ทีมข่าว CLICK