วันศุกร์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เปิดค่านิยมเด็กยุคใหม่ "เชื่อพรหมลิขิต-ติดยา-บ้าแบรนด์เนม-ติดเกม-กลัวผี”

อนุกมธ.วุฒิ ชี้วิกฤกฤตการเมือง ส่งผลเด็กเลียนแบบในทางที่ผิด เปิด 5 ค่านิยมเด็กไทยยุคใหม่ เชื่อ“พรหมลิขิต ติดยา บ้าแบรนด์เนม ติดเกม กลัวผี” สะท้อนปัญหาระบบบการศึกษาไทยล้มเหลว ด้านเครือข่ายครอบครัวชี้โรงเรียนต้องเปิดพื้นที่ ให้พ่อแม่มีส่วนร่วมเฝ้าระวังเด็กกลุ่มเสี่ยง

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการสิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา ได้มีการจัดเสวนาเรื่อง “เด็ก: ควรเรียนรู้อะไรจากวิกฤตทางการเมือง”

โดยนายอนุศักดิ์ คงมาลัย ประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ กล่าวว่า พฤติกรรมความรุนแรงกรณีนักเรียนชั้นม. 5 โรงเรียนวิทยานุสรณ์ ก่อเหตุเผาหอสมุดโรงเรียน ซึ่งเกิดจากความเครียดจากการกดดันทางการเรียน และการเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่า เด็กไทยกำลังเผชิญปัญหาความสามารถด้านการบริหารอารมณ์ จนกลายเป็นจุดอ่อนต่อความอดกลั้นเมื่อเผชิญปัญหาและการหาทางออกด้วยตนเอง

"นอกจากนี้ยังพบว่า ค่านิยมของเด็กไทยในยุคปัจจุบันที่เกิดจากการเลียนแบบทาสังคมที่สำคัญ 5 ด้าน พรหมลิขิต ติดยา บ้าแบรนด์เนม ติดเกม กลัวผี ซึ่งค่านิยมเหล่านี้มาจากเพื่อน สังคมรอบข้าง การโฆษณาชวนเชื่อ สื่อมวลชน ผู้นำทางความคิด"นายอนุศักดิ์ กล่าว

นายอนุศักดิ์ กล่าวว่า ขณะที่ระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ตามความคาดหวังที่ตั้งกันเอาไว้ ปรับตัวไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงทางสัคม และมีเพียงมาตรฐานเดียวในการวัดความเก่งของเด็ก ดังนั้นสิ่งที่เด็กควรเรียนรู้จากบทเรียนที่เกิดขึ้นในสังคมคือ การเรียนรู้ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมด้วยตนเองอย่างรู้เท่าทัน เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อ และเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน ข้าราชการ และทุกภาคส่วนตระหนักในการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการเฝ้าระวังเด็ก ในภาวะที่สังคมสับสน โดยจำเป็นต้องใช้กลไกที่ใกล้ตัวที่สุดในการเฝ้าระวังกับปัญหา ได้แก่ เครือข่ายเพื่อนร่วมชั้นเรียน เครือข่ายผู้ปกครอง ผู้บริหารสถานศึกษา และผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษา

นายธนากร คมกริช หัวหน้าโครงการเครือข่ายผู้ปกครองในสถานศึกษา มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า เด็กควรเรียนรู้ความเป็นจริง เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของสังคม โดยทุกระบบในสังคมต้องทำหน้าที่ฝึกสอนให้เด็กได้เรียนรู้ กลับพบว่า หน้าที่ในการอบรมเด็กกลับถูกผลักภาระไว้ที่โรงเรียนเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ระบบโรงเรียนกลับมุ่งเน้นในเชิงวิชาการ แม้จะมีระบบคัดกรองเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเพื่อนำเข้าสู่การแก้ไขปัญหา แต่กลไกเหล่านี้ยังไม่ถูกทำหน้าที่ จึงเห็นด้วยที่ผู้ปกครองต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลลูก ไม่ควรฝากภาระและอนาคตให้กับโรงเรียน โดยต้องมีระบบกลไกทางสังคมที่ช่วยให้ระบบครอบครัวมีความเข้มแข็ง มีทักษะและความรู้ความเข้าใจในการแนะนำลูกของตนเอง ซึ่งการสร้างระบบเครือข่ายผู้ปกครองสามารถทำได้ โดยโรงเรียนต้องเปิดพื้นที่ให้กลุ่มพ่อแม่ได้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของความเป็นผู้ปกครอง เช่น มีห้องให้ผู้ปกครองได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และการให้คำปรึกษาการเลี้ยงดูลูก เพื่อให้เครือข่ายครอบครัวมีส่วนในการเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาเด็กในโรงเรียนมากขึ้น

ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000091128