วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554
























"ต้อหิน" ภัยมืดในดวงตา

สำหรับผู้ที่กำลังมีปัญหาด้านสายตา ไม่ว่าจะเป็น สายตาสั้น สายตายาว หรือผู้ที่มีพฤติกรรมชอบนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ และเพ่งมองจอนานๆ ครั้งละหลายชั่วโมง หรือผู้ที่ซื้อคอนแทกต์เลนส์มาใส่เอง โดยไม่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือมาตรวจกับจักษุแพทย์ก่อน และถ้าคุณมีอายุเลข 4 นำหน้า แล้วมีปู่ย่าตายาย ญาติพี่น้องเป็นต้อหิน ขอให้พึงตระหนัก ว่า คุณคือหนึ่งในกลุ่มเสี่ยง ของผู้ที่อาจจะเป็น “ต้อหิน” ...เป็นมหันตภัยร้ายให้คุณก้าวสู่ “โลกมืด” ได้ ถ้าไม่มาพบจักษุแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ

นพ.บุญส่ง วนิชเวชารุ่งเรือง จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจักษุวิทยาและต้อหิน โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว โรคต้อหินพบได้ตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุ แต่ที่พบมากจะเป็นกลุ่มอายุมากกว่า 40 ปีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีญาติใกล้ชิดเป็นต้อหิน จะเสี่ยงกว่าคนอื่นๆ แถมทุกวันนี้ แฟชั่นเพื่อความงาม และความล้ำสมัย ก็ถูกคิดประดิษฐ์เพื่อตอบสนองความอยากดูดีของมนุษย์ จักษุแพทย์รายนี้แสดงความเป็นห่วงผู้ที่ซื้อคอนเทกต์เลนส์ตาโต หรือที่เรียกกันว่า “บิ๊กอาย” ที่ไม่ได้คุณภาพและมาตรฐานมาสวมใส่ เพื่อหวังจะให้ดูตาหวาน ตาโต ว่า พฤติกรรมเช่นนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้เกิดการแพ้ ติดเชื้อ กระจกตาเป็นแผล

“บิ๊กอายนี่หากมีอาการรุนแรง อาจถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ ส่วนคนที่มีปัญหาสายตาสั้นแล้วนั่งหน้าคอมพ์ติดกันเป็นเวลานาน ยิ่งเพิ่มความผิดปกติของประสาทตามากขึ้น อาจส่งผลให้เป็นโรคต้อหินได้ครับ”

นพ.บุญส่ง ให้ความรู้ต่อไปอีกว่า โรคต้อหินเป็นสาเหตุตาบอดอันดับที่สองของโลก จากสถิติปัจจุบันมีคนตาบอดทั่วโลก 4.5 ล้านคน และคาดการณ์ว่า จะเพิ่มขึ้นถึง 11.2 ล้านคนในปี ค.ศ.2010 โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย อาจมีคนเป็นต้อหิน แต่ไม่ทราบว่าตนเองเป็นอยู่ถึง 90% เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่เคยมาพบจักษุแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ต่างจังหวัด สำหรับคนกรุงเทพฯ ปริมณฑล จะดูแลสุขภาพดวงตามาตรวจกับจักษุแพทย์กันปีละครั้ง

“ในประเทศไทยเราพบผู้ป่วยโรคต้อหินส่วนใหญ่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดมากกว่าคนกรุงเทพฯ อาจเป็นเพราะคนกรุงเทพฯใส่ใจเรื่องสุขภาพและเข้าถึงคลินิก โรงพยาบาล ได้สะดวกกว่า อย่างไรก็ตาม นับจากนี้ไปคนต่างจังหวัดสามารถเข้ารับการตรวจกับจักษุแพทย์ได้ที่โรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่ง” นพ.บุญส่ง กล่าว

จักษุแพทย์รายนี้ ให้ภาพของพยาธิสภาพของโรคต้อหิน ว่า เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับเส้นประสาทตา ซึ่งเชื่อมระหว่างดวงตาและสมอง หากความดันภายในตาสูงกว่าระดับที่เส้นประสาทตาสามารถรับได้จะทำให้การมองเห็นค่อยๆ แคบลง และมองไม่เห็นในที่สุด หรือ ตาบอดได้

“โรคต้อหินแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทแรก มีอาการความดันภายในลูกตาจะสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน ทำให้เกิดอาการปวดตา ตาแดง หรือการมองเห็นไม่ชัดเจน ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยทันที ประเภทที่สอง ไม่แสดงอาการ ซึ่งพบได้มากกว่า รู้ตัวว่าเป็นโรคนี้จะมีอาการขั้นรุนแรง”

นพ.บุญส่ง อธิบายว่า ระยะเวลาของการเกิดโรคต้อหินถึงการสูญเสียการมองเห็น ใช้เวลานานเป็นปี หรือ 5-10 ปี จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยจะมาพบจักษุแพทย์แล้วพบต้อหินระยะใด ถ้าตรวจพบระยะแรก จะสามารถคุมอาการไว้ได้และไม่สูญเสียการมองเห็น หากตรวจพบระยะที่เป็นมากแล้ว อาจรักษาไม่ทัน ต้องสูญเสียการมองเห็นได้ ส่วนขั้นตอนการรักษา จะควบคุมความดันในลูกตา ซึ่งมี 3 วิธีหลัก คือ ใช้ยา ใช้แสงเลเซอร์ และการผ่าตัด

“สำหรับวิธีการรักษานั้น จะเลือกวิธีไหนรักษาผู้ป่วยนั้น แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วยแต่ละราย โดยทั่วไปจะพยายามควบคุมด้วยยาให้ได้ก่อน หากควบคุมด้วยยาไม่ได้ ถัดไปจะใช้เลเซอร์ ถ้ายังคุมไม่ได้ จึงเลือกวิธีผ่าตัดรักษา สำหรับการผ่าตัดต้อหินเป็นการลดความดันลูกตา แพทย์จะเจาะรูที่ผนังลูกตาให้น้ำข้างในออกมาอยู่ที่ใต้เยื่อบุตาเพื่อลดความดันข้างในลูกตา ซึ่งหลักการผ่าตัดระยะแรกจะมีอาการอักเสบบ้าง ทำให้มองไม่เห็นในช่วงแรก เมื่อสู่สภาพปกติ ประมาณ 4-6 สัปดาห์ จะกลับมามองเห็นเหมือนก่อนการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดแล้ว ยังต้องหมั่นมาพบจักษุแพทย์อย่างสม่ำเสมอ” นพ.บุญส่ง สรุป
 
ที่มา :  www.manager.co.th
update : 23/02/2554