วันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

























พ่อแม่จ๋า….มาให้ความสำคัญกับ "หมวกกันน็อค" กันเถอะ

เมื่อเอ่ยถึงพาหนะที่ชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมใช้ คงหนีไม่พ้น “จักรยานยนต์” เพราะนอกจากจะขับง่าย ไม่เปลืองน้ำมันแล้ว ยังให้ความคล่องตัว แถมราคาก็ไม่แพงอีกด้วย ครอบครัวธรรมดา ๆ ไม่ต้องพกเงินแสนก็สามารถซื้อหามาใช้ได้

แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีครอบครัวไทยอีกไม่น้อยที่หลงลืมข้อปฏิบัติด้านความปลอดภัยในการใช้ “จักรยานยนต์” ไปเสียนี่ นั่นก็คือการไม่สวมหมวกนิรภัย หรือที่เราเรียกกันถนัดปากว่า “หมวกกันน็อค” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีโอกาสเดินทางไปในต่างจังหวัด เรามักพบว่า หลายคนมักไม่นิยมสวมหมวกกันน็อคเอาเสียเลย แม้จะขับบนถนนใหญ่ รถราวิ่งกันฉวัดเฉวียนก็ตาม

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ทุกท่านที่เลือกใช้พาหนะอย่าง "จักรยานยนต์" ในการเดินทาง การสวมหมวกกันน็อคถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ที่ไม่ควรหลงลืม หรือละเลย เพราะนอกจากจะช่วยลดอันตรายที่จะเกิดกับชีวิตแล้ว ยังช่วยป้องกันศีรษะ – สมอง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดสำหรับมนุษย์อีกด้วย แต่ถ้ายังไม่จุใจ เรามีข้อดีของหมวกกันน็อคมาฝากค่ะ

ข้อดีของหมวกกันน็อค

สำหรับหมวกกันน็อคที่ออกแบบและผลิตอย่างได้มาตรฐาน ภายในจะมีโฟม ซึ่งมีคุณสมบัติยืดหดได้ เมื่อเกิดการชนและกระแทกจากของแข็ง โฟมที่อยู่ภายในหมวกกันน็อคจะถูกอัดกระแทก ยืดเวลาที่ศีรษะใช้ก่อนหยุดเคลื่อนไหวออกไปประมาณ 6 มิลลิวินาที มีผลในการควบคุมพลังงานจากการชน หมวกกันน็อคยังจะกระจายแรงการกระแทกไปยังพื้นที่ที่กว้างขึ้น ทำให้แรงกระแทกไม่ไปรวมอยู่ ณ พื้นที่เล็กๆ ส่วนใดส่วนหนึ่งของกะโหลกเท่านั้น ทำให้แรงกระแทกต่อเนื้อสมองลดลง แรงหมุนและความตึงเครียดภายในก็จะลดลงด้วย

นอกจากนั้น หากลองเปรียบเทียบความเสี่ยงระหว่างการสวมหมวกกันน็อคกับไม่สวมหมวกแล้วพบว่า การสวมหมวกนิรภัย ลดความเสี่ยงและความรุนแรงของการบาดเจ็บลงได้ประมาณ 72% ลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้ถึง 39% แต่ขึ้นอยู่กับความเร็วของรถจักรยานยนต์ที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ และลดค่ารักษาพยาบาลที่เกี่ยวเนื่องกับอุบัติเหตุ

แนะวิธีเลือกหมวกกันน็อค สำหรับพ่อแม่

เพื่อความปลอดภัยในฐานะผู้ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักยานยนต์ การเลือกซื้อสวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง ควรเลือกซื้อหมวกกันน็อคที่มีสัญลักษณ์ มอก. และมีข้อแนะนำ 10 ประการ คือ

1. หมวกกันน็อคที่สามารถปกป้องศีรษะและใบหน้าได้ดีที่สุด คือ หมวกนิรภัยชนิดเต็มใบ รองลงมาคือชนิดเปิดหน้า

2. หมวกกันน็อคควรมีแผ่นกันลมที่สามารถถอดเปลี่ยนได้ และควรใช้ชนิดใสในเวลากลางคืน และสีทึบในเวลากลางวัน

3. ควรตรวจสอบความหนาของเปลือกนอก ไม่ควรต่ำกว่า 4 มิลลิเมตร มีสีสดและสะท้อนแสงได้ เพื่อผู้ขับขี่คนอื่นเห็นได้ง่าย โดยเฉพาะในเวลาค่ำ และไม่มีส่วนยื่นออกจากผิวชั้นนอกของหมวกกันน็อคเกินกว่า 5 มิลลิเมตร

4. ควรตรวจสอบความแข็งและความหนาของโฟมซึ่งควรมีความหนาประมาณ 2.5 เซนติเมตรขึ้นไป เนื้อโฟมแข็ง ใช้นิ้วกดไม่ลง

5. ควรใช้มือคลำโฟมส่วนหน้าของหมวกกันน็อค หากมีรอยคว้านมากกว่า 1 เซนติเมตรขึ้นไปไม่ควรใช้ เนื่องจากจะเป็นจุดอ่อนของหมวกบริเวณนั้น ทำให้ได้รับอันตรายต่อศีรษะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

6. ควรตรวจสอบการติดตั้งสายรัดคาง และเลือกชนิดที่เป็นโลหะกับโลหะด้วยกัน

7. ควรตรวจสอบตัวยึดสายรัดคาง และเลือกชนิดที่เป็นรูปครึ่งวงกลม 2 ชิ้นด้วยกัน หรือระหว่างโลหะกับโลหะ ควรหลีกเลี่ยงชนิดที่ทำด้วยพลาสติก เนื่องจากชำรุดได้ง่าย

8. ควรสวมหมวกกันน็อคก่อนซื้อ ไม่ควรใช้ที่หมวกที่หลวมหรือคับเกินไป

9. หากเกิดอุบัติเหตุ และหมวกกันน็อคได้รับแรงกระแทกแล้ว จะต้องเลือกซื้อหมวกใบใหม่ทันที ไม่ควรนำมาใช้อีก

10. ไม่ควรแขวนหมวกกันน็อคใกล้กับถังน้ำมัน เพราะไอระเหยของน้ำมันจะทำให้โฟมเสื่อมสภาพเร็วขึ้น

ที่มา : www.manager.co.th
update : 23/02/2554